มร.ราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร แถลงผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปีการเงิน 2563 (เมษายน–มิถุนายน 2562) พร้อมชี้แจง การยกเลิกสัญญาการซื้อขายหุ้นระหว่าง TS Global Holdings Pte.Ltd.(ผู้ซื้อหุ้นรายใหญ่) กับ HBIS Group Co., Ltd ณ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อาคารรสา ทาวเวอร์ 2 ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้
มร.ราจีฟ มังกัล กล่าวถึง สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันว่า ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 การขาดดุลส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจ่ายเงินปันผลจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศและความต้องการท่องเที่ยวที่ลดลงไปตามฤดูกาล สถานการณ์ทางการเมืองยังคงอยู่ในความสนใจ ทั้งเรื่องการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และการผ่านงบประมาณประจำปี 2563 ประเทศไทยยังคงเผชิญกับการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ การส่งออก และการท่องเที่ยว เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคที่อ่อนแอลงจากความขัดแย้งทางการค้า
อุปสงค์ของภาคการก่อสร้างในประเทศยังคงตกต่ำ ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังมีไม่มากนัก การสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับโครงการสาธารณูปโภคยังคงเบาบางเช่นกัน ในขณะเดียวกัน อุปทานที่เกิดจากผู้ผลิตจากเตาหลอมเหนี่ยวนำไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ราคาวัตถุดิบในต่างประเทศ เช่น แร่เหล็กและเศษเหล็กยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปริมาณที่มีจำกัด ส่งผลต่อกำไรของผู้ผลิตจากเตาหลอมไฟฟ้าซึ่งอยู่ในสภาวะกดดัน ซึ่งสามารถชดเชยได้จากราคาของแท่งถ่านอิเลคโทรดในตลาดต่างประเทศซึ่งส่งสัญญาณที่ลดลงจากปริมาณแท่งถ่านอิเลคโทรดที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีน
ทั้งนี้ ปริมาณการขายของบริษัทในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 299,000 ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ในขณะที่รายได้จากการขายต่ำกว่าไตรมาสก่อนสะท้อนถึงราคาสินค้าที่ลดลงจากความเชื่อมั่นของตลาดที่ลดลง มูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงจากไตรมาสก่อน 52 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหล็กแท่ง จำนวนวันในการขายสินค้าปรับตัวดีขึ้นเป็น 46 วัน เมื่อสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2562 เปรียบเทียบกับ 47 วัน เมื่อสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2562 ลูกหนี้การค้ามีอายุการเก็บหนี้13 วัน ลดลงจาก 15 วันในเดือนมีนาคม 2562
ผลการดำเนินงานเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและปีก่อน ปริมาณการขายสินค้าในไตรมาสนี้ อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ในขณะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการขายเหล็กเส้นก่อสร้างในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งชดเชยกับปริมาณการส่งออกที่ลดลง และมีรายได้จากการขายในไตรมาสนี้อยู่ที่ 5,420 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณขายที่เพิ่มสูงขึ้นถูกชดเชยด้วยราคาสินค้าที่ลดต่ำลง
ทั้งนี้ บริษัทยังรายงานผลกำไร 44 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เทียบกับขาดทุน (93) ล้านบาทในไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาเศษเหล็กและต้นทุนการแปลงสภาพลดลง ขาดทุนจากผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทลดลง และรายได้จากการชดเชยค่าสินไหมทดแทนจากการระเบิดของเตาหลอมไฟฟ้าที่ SCSC เมื่อปีที่แล้ว ได้ชดเชยบางส่วนกับการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยเมื่อพนักงานเกษียณอายุ ซึ่งกำไรจำนวน 44 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกำไร 75 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เกิดจากราคาขายสินค้าลดลง ขาดทุนจากผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับกำไรในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยเมื่อพนักงานเกษียณอายุ บางส่วนหักกลบกับปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่วนใหญ่มาจากการขายในประเทศ และรายได้จากการชดเชยค่าสินไหมทดแทนจากการระเบิดของเตาหลอมไฟฟ้าที่ SCSC
ประเด็นเกี่ยวกับ T S Global Holdings Pte. Ltd (“TSGH”) และ Hebsteel Global Holding Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย HBIS Group Co., Ltd. (“HBIS”) ซึ่งได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 โดยจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้น ซึ่ง HBIS ถือหุ้น 70% และ TSGH ถือหุ้น 30% ภายใต้เงื่อนไขของการดำเนินการที่จำเป็นจะต้องได้รับการอนุมัติตามระเบียบของหน่วยกำกับดูแล ทั้งนี้ HBIS ยังไม่สามารถดำเนินการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้ได้รับการอนุมัติจากมณฑลเหอเป่ยได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ ดังนั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงตัดสินใจไม่ขยายระยะเวลาสำหรับวันครบกำหนดการเข้าทำธุรกรรม (Long Stop Date) ภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้น และยกเลิกสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าทำธุรกรรม โดย TSGH จะเริ่มเข้าทำข้อตกลงกับผู้ลงทุนรายอื่นในทันที เพื่อดำเนินการตามแผนการหาพันธมิตรสำหรับธุรกิจของบริษัทต่อไป
อนึ่ง บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย สามบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง และบริษัท เหล็กสยาม (2001) จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กทรงยาวรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิต เหล็กแท่ง 1.4 ล้านตัน และเหล็กสำเร็จรูป 1.7 ล้านตัน ประกอบด้วย เหล็กเส้นก่อสร้าง เหล็กลวด เหล็กรูปพรรณขนาดเล็ก เหล็กเพลา และเหล็กเส้นตัดและดัดสำเร็จรูป โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายผู้จำหน่ายสินค้าทั่วประเทศ รวมถึงส่งออกเหล็กเส้น และเหล็กลวด ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก