สมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ร่วมกับ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เตรียมจัดงานใหญ่ “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” สุดยอดมหกรรมจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย เป็นการรวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจากบริษัทชั้นนำกว่า 300 แห่งทั่วโลก พร้อมไฮไลท์ตลอดการจัดงาน อย่างเช่น บริการแมชชิ่งคู่ธุรกิจ เพื่อส่งเสริมโอกาสต่อยอดการค้า และสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในวงการอุตฯ จากทั่วโลก ระหว่าง 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
มร.เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เปิดเผยว่า มูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ไทยในปี 2561 มีมูลค่าร่วม 3 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นมูลค่าอุตฯ การพิมพ์ราว 40% หรือ 1.2 แสนล้านบาท และมูลค่าอุตฯ การบรรจุภัณฑ์ราว 60% หรือ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับอานิสงค์การขยายตัวของดีมานต์การบริโภคในประเทศและการส่งออก โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
การจัดงาน “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” ครั้งนี้ จะช่วยทำให้เข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะช่วยผลักดันขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดสากล โดยภายในงานรวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ตอบโจทย์แนวทางการผลิตแห่งอนาคตจากกว่า 300 บริษัทชั้นนำ 25 ประเทศทั่วโลก อาทิ เอชพี (HP) ไฮเดลเบิร์ก (Heidelberg) โคนิก้า มินอลต้า (Konica Minolta) ฟูจิฟิล์ม (Fujifilm) ริโก้ (Ricoh) เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCG Packaging) แคนนอน (Canon) ฯลฯ ซึ่งแต่ละบริษัทเตรียมขนทัพนวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อการผลิต การพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ใหม่ล่าสุด มาเปิดตัวพร้อมกันภายในงาน โดยมี 3 โซนจัดแสดงหลัก ได้แก่
1. โซนพาวิเลี่ยนครบวงจร (One-Stop Pack & Print Pavilion) จัดแสดงผลงานและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลจากทั่วโลก พร้อมบูธบริการให้คำปรึกษาและช่วยจับคู่ทางธุรกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเปรียบเสมือนแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อนวัตกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิต ผู้บริโภค ซัพพลายเออร์วัสดุการผลิต และผู้ผลิตเครื่องจักรไว้ด้วยกัน เพื่อส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจสำหรับบริษัท ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ
2. โซนเทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก (Labelling Zone) จัดแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก ที่ครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีใหม่สำหรับการพิมพ์ฉลาก แอปพลิเคชันฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ล้ำสมัย การตกแต่งและการปรับแต่งฉลาก และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
3. โซนจัดแสดงต้นแบบ (Prototype & Design Showcase) ที่จัดแสดงผลงานการพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ และเทคโนโลยีต้นแบบ เพื่อการออกแบบ การแสดงผล และการผลิตสมัยใหม่ อาทิ ภาพพิมพ์ 3 มิติ และซอฟแวร์ที่เกี่ยวข้อง ต้นแบบงานบรรจุภัณฑ์จากฝีมือนักศึกษา Toyota Art Camp University และผลงานที่ชนะเลิศจากงานประกวด AsiaStar 2019
“อีกหนึ่งจุดเด่นของงาน ได้แก่ บริการจับคู่การเจรจาธุรกิจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับผู้ผลิต ลูกค้า และพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยพัฒนาโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นสำหรับผู้ประกอบการ ตลอดจนยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ภายในงาน ยังรวบรวมงานประชุมและสัมมนา จากผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรม และผู้ผลิตนวัตกรรมชั้นนำ ซึ่งจะมาแลกเปลี่ยนมุมมอง และอัปเดตกระแสของตลาดที่เกี่ยวข้องกับงานพิมพ์และงานบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเหมาะกับทั้งผู้ประกอบการ นักออกแบบ นักการตลาด รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ต้องการติดตามความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม จากสถิติผู้ลงลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้า พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 63% จากปี 2560 โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาค อาทิ พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมสูงถึง 17,000 คน ในปีนี้และเชื่อว่า แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล จะช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมไทยให้เท่าทันโลก สร้างผลลัพธ์การผลิตที่น่าดึงดูดและยั่งยืนในตลาดโลก รวมถึงพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก” มร.เกอร์นอท กล่าว
ด้าน นายพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวว่า ตัวเลขมูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑไทยในปี 2561 มีมูลค่าร่วม 3 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นมูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์ราว 40% หรือ 1.2 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำสำหรับ 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ หนังสือ หนังสือพิมพ์ วัสดุการพิมพ์ทั่วไป และตลาดการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ขณะที่ประเทศไทยยังสามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก ในฐานะศูนย์กลางการผลิตด้านการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรการผลิต การส่งเสริมโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องจากทางภาครัฐ รวมถึงความพร้อมด้านแรงงาน ร่วมไปกับนโยบายสนับสนุนจากทางภาครัฐ อาทิ มาตรการจูงใจทางภาษีอากร และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอากร สำหรับโครงการที่ตรงตามวัตถุประสงค์การพัฒนาประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ขณะที่ นายมานิตย์ กมลสุวรรณ นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์มีกำลังการผลิตในประเทศสูงถึง 5.83 ล้านตันในปีที่ผ่านมา และจะยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีราว 10 – 20% โดยคาดว่าตลาดตลาดการการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ทั่วโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 8.87 ล้านล้านบาท ในปี 2563 ขณะที่ตลาดในภูมิภาคเอเชียเองมีจะมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ขยายถึงราว 40% จากสัดส่วนทั่วโลก ในปี 2565 ซึ่งสะท้อนโอกาสก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ไทยที่ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิต รองรับการเติบโตดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากอานิสงค์ของดีมานต์การบริโภคในประเทศและการส่งออก ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ดี นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะเป็นข้อท้าทายหนึ่งที่สร้างการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมเองต้องปรับทิศทางธุรกิจให้เท่าทันสถานการณ์ตลาด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ผลิตภัณฑ์ที่น่าดึงดูดแก่นักลงทุนทั่วโลก
ส่วน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยว่า อุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ไทยในปี 2563 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยไปพร้อมกับจีดีพีประเทศ โดยได้รับอานิสงค์จากการบริโภคในประเทศ ด้านการส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบกับจีดีพีไทย ขณะที่สงครามการค้าสหรัฐ – จีน จะยังคงดำเนินต่อเนื่อง แม้ว่าการส่งออกไทยไปยังจีนจะชะลอตัวลงราว 12% แต่ไทยกลับส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 10% นอกจากนี้ คาดว่าการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และการเบิกจ่ายงบประมาณที่จะเกิดขึ้น จะช่วยกระตุ้นการลงทุน และผลักดันเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
ประเทศไทยกำลังเดินหน้าอุตสาหกรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อก้าวเป็นศูนย์กลางการผลิตและบ่มเพาะนวัตกรรมซึ่งตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ดังนั้นการประยุกต์นวัตกรรมและกระบวนการผลิตขั้นสูงจากต่างประเทศ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งทางภาครัฐกำลังเร่งสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจในประเทศ ตลอดจนส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีศักยภาพ และระบบเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมไทยเอง ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ตลาดการแข่งขันใหม่ๆ ปรับปรุงรูปแบบธุรกิจ และมองหานวัตกรรมที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร ซอฟแวร์การจัดการ หรือแม้กระทั่งวัสดุการผลิตแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ค้ารายย่อย เอสเอ็มอี โอท็อป และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง ซึ่งน่าจะได้รับอานิสงค์จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี โดยงานแพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล จะช่วยเสริมช่องทางในการเข้าถึงนวัตกรรมที่สำคัญ เพื่อยกระดับอุตฯ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในอนาคต และพัฒนาฐานการผลิตของผู้ประกอบการไทย ให้รองรับโอกาสและปูทางไปสู่ตลาดการค้าใหม่ในอนาคตอันใกล้
“แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” มีกำหนดจัดขึ้นระหว่าง 18 – 21กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pack-print.de หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ PackPrintInternational