ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว คาดราคาอยู่ที่ 13,009-13,529 บาท/ตันเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.90-5.98 เนื่องจากภาวะภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตข้าวเหนียวมีปริมาณน้อยกว่าทุกปี ประกอบกับเป็นช่วงรอยต่อของฤดูกาลการผลิตทำให้ข้าวเหนียวเก่าเหลือน้อยและข้าวเหนียวใหม่ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยวส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ประกอบการข้าวถุง และผู้ส่งออกข้าวเร่งซื้อข้าวเก็บไว้ในสต็อก น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก คาดราคาอยู่ที่ 12.16-12.63เซนต์/ปอนด์ (8.22–8.54 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 4.00-7.00ตามการเข้ามาซื้อน้ำตาลคืนของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรอันเป็นผลมาจากการที่หน่วยงานวิเคราะห์ของบราซิล (Brazil Conab) ได้ปรับลดประมาณการผลผลิตน้ำตาลของบราซิลในปี 2562/2563 ลงร้อยละ 6.7 เหลือ 31.8 ล้านตัน จากเดิมประมาณการไว้ที่ 34.1 ล้านตัน จึงคาดว่าผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
มันสำปะหลัง คาดราคาอยู่ที่ 1.72 – 1.77 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.17 – 4.11 เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดลดลงและผลจากการเกิดโรคระบาดไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง (CMD) และปาล์มน้ำมันคาดราคาอยู่ที่ 2.35 – 2.43 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.73 – 5.19เนื่องจากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันในเดือนกันยายนจะออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับนโยบายการเร่งดูดซับน้ำมันปาล์มเพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์ม จะเป็นปัจจัยหนุนให้ทิศทางราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น
ด้านสินค้าเกษตรที่จะมีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% คาดราคาอยู่ที่ 7.17-7.28 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-2.00 เนื่องจากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูกาลใหม่ที่ออกจากไร่อาจจะมีความชื้นสูง จากภาวะฝนที่ยังตกชุกในหลายพื้นที่ ส่งผลให้คุณภาพผลผลิตลดลง
ยางพาราแผ่นดิบ คาดราคาอยู่ที่ 36.53 – 37.35 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 3.98 – 6.09 เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่า และสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการรัฐในการชดเชยราคายางพาราตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรอาจจะทำให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
สุกร คาดราคาอยู่ที่ 68.50 – 69.20 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.25 – 1.25 เนื่องจากปริมาณสุกรออกสู่ตลาดใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค ประกอบกับความกังวลกับข่าวการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) อาจทำให้เกษตรกรบางส่วนเร่งจำหน่ายสุกรออกสู่ตลาด
และกุ้งขาวแวนนาไม คาดราคาอยู่ที่ 137.50 – 140.50 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.58– 3.68 เนื่องจากสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงกดดันให้ส่งออกกุ้งได้น้อยลง ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้เกษตรกรเร่งจับกุ้งออกจำหน่ายเพื่อลดความเสี่ยงที่กุ้งจะเสียหาย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้น