กระทรวงอุตสาหกรรม ชูนโยบายผลักดันอุตสาหกรรมไทย เพิ่มมูลค่าเพิ่มการผลิตไทย ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนในไทยและต่างประเทศ ขนทัพนวัตกรรมล้ำสมัยในกลุ่มอุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์ การพิมพ์ พลาสติก ยาง ท่อและเหล็ก กว่า 5,000 ชิ้น ผ่านการจัด สุดยอดเมกะเทรดแฟร์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกอบไปด้วยงาน แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019 ทีพลาส 2019 และ ไวเออร์ แอนด์ ทูปเซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์มีมูลค่า1.2 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตราว 2% และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ 1.8 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตราว 20% จากอานิสงสาการเติบโตธุรกิจอาหารแปรรูป ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็ก และท่อมีแนวโน้มขยายตัว 10 – 14% จากการลงทุนเมกะโปรเจกต์ภาครัฐ ด้านอุตสาหกรรมพลาสติกมีมูลค่าทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตราว 3.9 – 4.0% ในปี 2563

นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสภาวการณ์อุตสาหกรรมในปัจจุบัน เทคโนโลยรขั้นสูง และนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเป็นอย่างมาก กระทรวงอุตสาหกรรจึงเร่งเดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมไทย ภายใต้โร้ดแม็ปไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมโรโบติกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ฯลฯ ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมไทย ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัย ที่สร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการไทย ให้ก้าวเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Value Chain ตลอดจนบูรณาการทุกภาคส่วนในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตท่ามกลางการแข่งขัน

ขณะที่ อุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ซึ่งกำลังเป็นที่จับตา และส่งผลต่อรายได้มวลรวมหลักให้กับประเทศ ด้านภาครัฐเองตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการศูนย์ปฏิรูปนวัตกรรม 4.0 และ อินโนสเปซ ที่ปัจจุบันมีงบลงทุนจากกลุ่มผู้จัดตั้งสูงถึง 710 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทย และภาคอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำให้กับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่าง อุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมพลาสติกและยาง และอุตสาหกรรมเหล็กลวด เคเบิล ท่อ ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ตลาดการแข่งขันใหม่ๆ และมองหานวัตกรรมที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย เอสเอ็มอี และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง

อย่างไรก็ดี จากสถิติพบว่า จีดีพีประเทศมาจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมถึงกว่า 27.4% ซึ่งคาดว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศเองมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 1.6 ล้านล้านบาท จากปัจจัยด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในปี 2571 โดยปัจจุบัน มูลค่าอุตสาหกรรมการพิมพ์มีมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตราว 2% และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ 1.8 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตราว 20% โดยได้รับอานิสงค์หลักจากการเติบโตของธุรกิจอาหารแปรรูปที่มีแนวโน้มการส่งออกสูงถึง 1.79 ล้านล้านบาท ในปี 2580 ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็ก และท่อเอง มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ราว 7 ล้านตัน และคาดว่าภายในปี 2563 ที่จะปริมาณการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากทางภาครัฐจำนวนมาก จะช่วยให้อุตสาหกรรมเหล็ก และท่อขยายตัวราว 10 – 14% ด้านอุตสาหกรรมพลาสติกมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตราว 3.9 – 4.0% ในปี 2563

ด้าน มร.เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของประเทศ สร้างโอกาสการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไทย ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จัดงาน สุดยอดเมกะเทรดแฟร์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยภายในงานรวบรวมนวัตกรรมกว่า 5000 ชิ้น จาก 900 บริษัทชั้นนำทั่วโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น อุตสาหกรรมต้นน้ำหลักของอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve เพื่อตอบโจทย์อนาคตอุตสาหกรรมไทย และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตอันล้ำสมัย ได้แก่

• แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019 มหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์ และอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ ที่รวบรวมผู้ผลิตนวัตกรรม และวัสดุการผลิตจากทั่วโลก โดยภายในงานมีไฮไลท์นวัตกรรมจัดแสดงอย่าง พาวิเลี่ยนที่รวบรวมผลงานดิจิทัลพรินต์ แพคเกจจิ้งเทคโนโลยีเออาร์ หมึกพิมพ์และสารเคลือบแพคเกจจิ้งปลอดสาร สำหรับแพคเกจจิ้งอาหาร ผ้าพิมพ์ลายที่ใช้ในงานเครื่องแต่งกาย รวมถึงผลงานแพคเกจจิ้งที่ชนะรางวัลประกวดจากทั่วโลก

• ทีพลาส 2019 นำเสนอนวัตกรรม และวัสดุการผลิตเพื่อใช้ในงานสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติก และยาง โดยมีไฮไลท์ภายในงาน อาทิ พาวิเลี่ยนเครื่องมือทางการแพทย์จากพลาสติก พลาสติกเพื่อใช้ในงานประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์ พลาสติกรีไซเคิล และพลาสติกที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
• ไวเออร์ เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019 และ ทูป เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019 มหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมลวด เคเบิล ท่อ และท่อร้อยสาย ซึ่งใช้มากในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve อย่างอุตสาหกรรมโรโบติกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการบิน ฯลฯ โดยภายในงานมีไฮไลท์จัดแสดงอย่าง นวัตกรรมวัสดุเสริมแรง หรือวัสดุคอมโพสิท สำหรับอุตสาหกรรมราง และการก่อสร้าง ลวดไฟฟ้าแรงดันสูงที่มีน้ำหนักเบา รวมถึงสัมมนาการคำนวณและเทรนด์ออกแบบสิ่งปลูกสร้างจากวิทยากรชื่อดัง

อีกหนึ่งจุดเด่นของงาน ได้แก่ บริการจับคู่การเจรจาธุรกิจ เพื่อเชื่อมต่อผู้ผลิต ลูกค้า และพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ตลอดจนงานประชุมและสัมมนา จากผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรม กว่า 50 งาน ซึ่งเหมาะกับทั้งผู้ประกอบการ นักออกแบบ นักการตลาด ฯลฯ เพื่อยกระดับศักยภาพทรัพยากรแรงงานไทยและอุตสาหกรรมไทยให้เท่าทัน ช่วยสร้างผลลัพธ์การผลิตที่น่าดึงดูดและยั่งยืนในตลาดโลก

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here