จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา (Pestalotiopsis sp., Colletotrichum sp. ) มีการแพร่ระบาดเข้ามาพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน 2562 ทำให้ต้นยางมีใบร่วงรุนแรง สภาพเสื่อมโทรม ผลผลิตน้ำยางทยอยลดลงๆ ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางต้องหยุดกรีดยาง และขาดรายได้
ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 พบการระบาดของโรคใน 8 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี รวมพื้นที่ประมาณ 450,433 ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยางทั้งที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลกับ กยท. ได้รับผลกระทบ 43,563 ราย ผลผลิตลดลงประมาณ 60,000 ตัน เกษตรกรสูญเสียรายได้ในภาพรวมมูลค่า 2,400 ล้านบาท และพบการระบาดของโรคนี้ในพืชอื่นบริเวณข้างเคียง เช่น ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน กล้วย มะละกอ มันสำปะหลัง ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก และวัชพืชอีกหลายชนิดด้วยนั้น
นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ว่า กยท.ได้ดำเนินการช่วยบรรเทาสถานการณ์การระบาดของโรคไปแล้วหลายวิธี ได้แก่ การสำรวจเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค การประสานขอความร่วมมือ GISTDA ในการประเมินการระบาดของโรคจากการร่วงของใบด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม การสาธิตการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ฉีดพ่นสารเคมีควบคุมและกำจัดเชื้อรา ในพื้นที่นราธิวาส ตรัง และพังงา นำร่องจังหวัดละ 300 ไร่ รวม 900 ไร่ เร่งศึกษาวิจัยหาเชื้อสาเหตุและกลไกการเข้าทำลาย ทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมีในการป้องกันกำจัดในพื้นที่เกิดโรค วิจัยและพัฒนาพันธุ์ต้านทาน โดย กยท. ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งในประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร GISTDA และองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ANRPC IRRDB รวมถึงประชาสัมพันธ์ข้อมูลการตรวจสอบลักษณะอาการของโรคและคำแนะนำในการป้องกันกำจัดโรค การกำจัดใบเป็นโรคที่ร่วงหล่นและวัชพืชในสวนยางแก่เจ้าหน้าที่ บุคลากร และเกษตรกรชาวสวนยาง ในพื้นที่ประสบโรคและพื้นที่เสี่ยง
รักษาการ ผวก.กยท. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กยท. มิได้นิ่งนอนใจ ได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการต่างๆ เพื่อป้องกันและเยียวยา แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคที่รวดเร็วและรุนแรง ขณะนี้ กยท.ได้ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพร้อมสนับสนุนจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อเดินหน้ามาตรการที่จำเป็นต่อการเร่งยับยั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค บรรเทาความเดือดร้อน และช่วยเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลกับ กยท. รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชชนิดอื่นที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้อย่างเร่งด่วน เช่น มาตรการควบคุมและกำจัดโรคในสวนยางพาราที่พบการระบาดแล้ว จำนวนพื้นที่ 500,000 ไร่ โดยใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อรา มาตรการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด จำนวน 50,000 ราย มาตรการป้องกันโรคในสวนยางในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง จำนวนพื้นที่ 2,000,000 ไร่ โดยใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อรา การจัดการธาตุอาหารพืชให้ต้นยางสมบูรณ์แข็งแรง มาตรการเฝ้าระวัง เตือนภัยและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค รวมถึงมาตรการเตรียมความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคในภาคส่วนของเกษตรกร เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการร่วมมือป้องกันกำจัดโรคนี้ ทั้งหมดนี้ คาดว่าจะช่วยยับยั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคและจัดการปัญหาให้คลี่คลายโดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่เจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้ ติดต่อขอคำปรึกษาและข้อแนะนำได้จาก กยท. ในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน