เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อติดตามผลการเร่งขยายตลาดสินค้าไทยในซาอุดีอาระเบีย หลังจากที่ได้นำคณะนักธุรกิจไทยเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นอีกมิติในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศ กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยจัดตั้ง กรอ.พาณิชย์ เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าการส่งออก โดยวันนี้ดำเนินการตามนโยบายเชิงรุกและเชิงลึก ติดตามการเปิดตลาดการค้าและด้านอื่นระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียหลังตนนำคณะกระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชนและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 27-31 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยประเด็นสำคัญ 5 เรื่องที่หารือร่วมกัน
ประการที่หนึ่ง เราสามารถทำสัญญาซื้อขายสินค้าไทยไปซาอุฯ ได้ทันที 3,500 ล้านบาท
ประการที่สอง มีผลให้จัดตั้งสภาธุรกิจไทยซาอุฯ ตั้งเป้าหมายภายในหนึ่งปี จะทำมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้10,000 ล้านบาท และประเด็นอื่นๆ มีข้อสรุปดังนี้ 1) กระทรวงพาณิชย์จะจัดคลินิกส่งเสริมการส่งออก หรือ Export Clinic ไปตลาดซาอุฯ เพื่อทำงานร่วมกันระหว่างสภาอุตสาหกรรม ภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์ โดยให้คำปรึกษา กฎระเบียบ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี สินค้าที่ต้องการของซาอุฯ บริการ ระบบการขนส่งและการจัดตั้งสายด่วนและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำตัวเลขการส่งออกไปยังซาอุฯ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะหมวดอาหาร การก่อสร้าง ปิโตรเคมีและยานยนต์ เป็นต้น 2) จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยในซาอุฯ เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนนำสินค้าไทยร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญที่ซาอุฯ โดยคัดไว้เบื้องต้น 5 งานสำคัญ
ประการที่สาม วันนี้กระทรวงพาณิชย์จับมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกระทรวงการลงทุนของซาอุฯ จัดWebinar ส่งเสริมการค้าการลงทุนในสาขาสำคัญ เช่น ปิโตรเคมี การก่อสร้าง เหล็ก อะลูมิเนียม อาหาร การเกษตรยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งเสริมการส่งออก
ประการที่สี่ ที่ประชุมติดตามได้ความคืบหน้าที่ตนนำคณะกระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของซาอุดีอาระเบีย เรื่อง FTA ไทยกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ หรือ GCC ประกอบด้วย 6 ประเทศคือ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเร่งรัดให้มีการเจรจาให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว และติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย–ซาอุฯ (Joint Trade Committee: JTC) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียให้ความเห็นชอบแล้ว ต่อไปเป็นการจัดตั้งให้เป็นเวทีเจรจาการค้าระหว่าง 2 ประเทศต่อไป
และประการที่ห้า ติดตามความคืบหน้าที่ตนนำคณะเอกชนกับกระทรวงพาณิชย์เดินทางไปเจรจากับทางการซาอุฯ ในเรื่องต่างๆที่ประสบความสำเร็จ 10 ข้อ เช่น ที่ต้องการให้อย. ซาอุ (SFDA) เดินทางมาตรวจโรงงานผลิตและส่งออกไก่แช่เย็น–แช่แข็ง อนาคตหวังว่าจะสามารถเปิดตลาดไก่ต้มสุกต่อไปซึ่งไก่ต้มสุกจะมีมูลค่าการตลาดมหาศาล และการที่เอกชนไทยจะเดินทางไปซาอุฯที่ผ่านมามีปัญหาการขอวีซ่าเพราะต้องมีหนังสือเชิญจากซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นอุปสรรควันนี้มีความคืบหน้าแนวโน้มที่จะเป็นไปได้จากนี้ คือ การขอวีซ่าของนักธุรกิจไทยไปซาอุฯ ให้สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหรือกลไกภาคเอกชนอื่นๆ ที่กฎหมายรับรองจากรัฐบาลไทยออกหนังสือรับรองให้ยื่นขอวีซ่าได้จะสะดวกยิ่งขึ้น
“นอกจากเราขายอาหารที่เป็นที่ต้องการ คือ อาหารฮาลาลให้กับซาอุฯ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแล้ว ต้นไม้จะเป็นอีกสินค้าทำเงินให้ประเทศหรือสร้างเงินให้ประเทศต่อไปในอนาคต จะได้มีการหารือกับกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไปให้ช่วยกันขับเคลื่อน” นายจุรินทร์ กล่าว
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการเดินทางไปซาอุดีอาระเบียที่นำทีมโดยท่านจุรินทร์และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เป็นโอกาสดีเป็นประเทศที่มีศักยภาพไม่เฉพาะซาอุดีอาระเบีย แต่จะเป็นประตูเข้าสู่ประเทศตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นในอนาคต สินค้าไทยเป็นโอกาสที่ดี รวมทั้งสินค้าในหมวดก่อสร้าง อุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ตอบรับดีมาก ขอขอบคุณท่านรองนายกฯ และทีมงาน นี่เป็นมิติใหม่ที่ไม่เคยทำงานใกล้ชิดขนาดนี้ ภาครัฐทำงานเชิงรุก ท่านรองนายกฯ มีความเข้าใจภาคเอกชนในความต้องการและแก้ปัญหาทุกอย่าง คิดว่าการจับมือร่วมมือกันโดย กรอ.พาณิชย์ ที่ท่านทำขึ้นมาทำให้พวกเราทำงานสะดวก คล่อง และจะมีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ตลาดซาอุดีอาระเบีย เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและกำลังรอการเติบโต โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดีอาระเบีย ในเดือนมกราคม–สิงหาคม 2565 อยู่ที่ 43,114 ล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 15.9 โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยางอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องจักรและส่วนประกอบของ เครื่องจักร รวมถึงอาหารสัตว์ เป็นต้น