เมื่อเร็วๆนี้ สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง และ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023” เพื่อผลักดันพืชยางพาราให้เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 ตามแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ปี พ.ศ. 2566-2570 รวมทั้ง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องมีความกระตือรือร้น ด้านการสร้างความร่วมมือของประเทศผู้ผลิตยางพารา ทั้งเกษตรกรสวนยางพารา อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ โดยเน้นความต้องการของผู้บริโภค การประยุกต์ และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดสินค้าเกษตร ให้เกิดการกระจายรายได้สู่เกษตรกร ภายใต้การขับเคลื่อน “โครงการเกษตรปลอดภัยครัวไทยสู่ครัวโลก” และ “ระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม” เพื่อแก้ปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ยั่งยืน
โดยภายในงานครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 22 – 26 ก.พ. พ.ศ. 2566 ณ ตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออก ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้
ทั้งนี้ ภายในงานมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายอำนวย ปะติเส นายกสมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานด้วย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เป็นสักขีพยานรับมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีให้ลูกหลานชาวสวนยางจังหวัดระยอง จำนวน 7 ทุน จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนดรุณาฝูเจ่อ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนรู้สึกยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ได้ร่วมกับส่วนราชการและภาคธุรกิจผู้ประกอบการต่าง ๆ จัดขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับยางพาราและภาคเกษตรของไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้นเท่าเทียมกับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ
ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ในการดูแลพืชเกษตรสำคัญของประเทศ 6 ชนิด ผ่านการประกันราคาพืชเกษตรดังกล่าว รวมถึงการดูแลพืชยางพาราและราคายางพาราในประเทศให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางพาราและส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่กำหนดราคาในตลาดโลกไม่ได้ ดังนั้นต้องหาแนวทางในการที่ต้องมีการรวมกลุ่มประเทศผู้ผลิตยาง เพื่อให้ได้ราคายางในราคาที่เป็นธรรมกับการประกอบการของเกษตรกร ขณะเดียวกันก็หาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต มีการพัฒนาแปรรูปยางพาราที่สอดคล้องกับความต้องการ ตลาดและผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพื่อให้ขายได้ในราคาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้ทุกคนทำเกษตรที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดนลดใช้สารเคมีหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนรวมถึงต้องปลูกพืชในพื้นที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้ากับต่างประเทศ เพราะจะมีการตรวจสอบย้อนกลับทุกสิ่งที่มาของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ รวมทั้งปรับตัวและพัฒนายางให้มีคุณภาพทันกับการเปลี่ยนแปลง รับความต้องการของโลก โดยเฉพาะการผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ต้องพัฒนาให้มีคุณภาพและปลอดภัยได้มาตรฐานระดับสากล สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้โดยไม่ถูกกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราด้านสุขภาพ ต้องทำให้มีความปลอดภัยและมีคุณภาพ
ด้าน ดร. อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวสวนยาง เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านยางพาราที่มีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นจุดได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่จะป้อนโรงงานอุตสาหกรรมยางพารา จากข้อมูลของ กองการยาง กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ประเทศไทยส่งออกยางพารา เป็นอันดับหนึ่งของโลก มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 และยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่งในทุกๆ ปี โดยในปี พ.ศ.2564 มีข้อมูลรายงานว่า “ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตยางพารา 5,168,837 ตัน ส่งออกในรูปยางดิบ 4,176,529 ตัน คิดเป็นร้อยละ 80.80 ของผลผลิตยางพารา และใช้ภายในประเทศเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ 925,808 ตัน คิดเป็นร้อยละ 17.91 ของผลผลิตยางพารา โดยมีมูลค่าการส่งออกยางพาราดิบ 175,977 ล้านบาท และมูลค่าส่งออกในรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา 379,424ล้านบาท”
จากข้อมูลดังกล่าวนี้ จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างกลยุทธ์ เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนจากทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทย และเร่งรัดให้มีการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยและ สมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง จึงได้ร่วมมือกัน จัดงาน “งานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจEEC 2023” ขึ้น โดยได้ร่วมกับเครือข่ายสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา ทั้งจาก วิสาหกิจชุมชนและจากผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs.) เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศได้มองเห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรม SMEs ผลิตภัณฑ์ยางพารารายย่อย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญด้านวิจัยและพัฒนา (R & D) การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาจุดอ่อนในภาคอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา และเป็นการจับคู่ธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารากับผู้ที่สนใจที่จะร่วมลงทุน เพื่อมุ่งเน้นที่จะใช้การตลาดนำการผลิต(Demand Pull) มุ่งเน้นการเชื่อมโยงภาคเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรมให้เป็นระบบเดียวกัน เน้นการประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรอุตสาหกรรม ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2565
สำหรับ กิจกรรมในงาน ดังกล่าว ประกอบด้วยนิทรรศการจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และร้านค้าเอกชนนอกจากนี้ ผู้ร่วมงานยังสามารถเข้ารับฟังสัมมนา / เสวนาวิชาการ รับความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ด้านการแปรรูปผลผลิตการเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตามที่ตลาดโลกต้องการ และการเชื่อมโยงรองรับการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก/ EEC ซึ่งมีความพร้อม ตามมติคณะรัฐมนตรีด้านการเกษตร เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางพารา สินค้าอุปโภค – บริโภค และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและสินค้าอื่นๆ ตลอดจน เวทีการแสดงของศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงจากค่ายต่าง ๆ มาร่วมด้วยช่วยกันภายในงานดังกล่าว
“การจัดงานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 ครั้งนี้ ผมขอกราบขอขอบพระคุณเอกชน ห้างร้าน ต่างๆทุกท่านที่ได้ “ร่วมด้วย ช่วยกัน” สนับสนุนงบประมาณจัดงานดังกล่าว ซึ่งงานครั้งนี้ เกิดจากแนวความคิดของสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำให้เกิดพลังสำคัญครั้งใหญ่ รวมทั้ง หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในจังหวัดระยอง และหน่วยงานภายนอกจังหวัด เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการทางวิชาการ การแสดงมหรสพ – เวที เพื่อให้ความบันเทิง การจำหน่ายสินค้าอุปโภค –บริโภคต่าง ๆ อาทิตลาดนัดสะพานพุทธ และอื่น ๆ
สำหรับเป้าหมายสำคัญในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อผลักดันพืชยางพาราให้เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 ตามแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566 – 2570 ปี พ.ศ. 2566 ซึ่งผมได้ไปยื่นหนังสือแก่ ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) เมื่อ วันที่ 1 ก.พ. พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา รวมทั้ง เป็นภาพแสดงการขับเคลื่อนการจับคู่ธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารากับผู้ที่สนใจในการที่จะร่วมลงทุน เพื่อมุ่งเน้นที่จะใช้การตลาดนำการผลิต (Demand Pull) การเชื่อมโยงภาคการเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม ให้เป็นระบบเดียวกันโดยเน้นการประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรอุตสาหกรรม ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เป็นครั้งแรกในงานนี้
นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอการเชื่อมโยงการนำนวัตกรรมการตรวจวัดคาร์บอนเครดิตในสวนยาง กับ บ.วารุณา ในเครือปตท. และบ. SCGC ในเครือปูนซีเมนต์ไทย พื้นที่สวนยาง จ.ระยองร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง นิทรรศการ และ การอบรมความรู้ “เรื่องระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม” อันเป็นผลงานการวิจัยพัฒนา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ของ ทีมนักวิจัยวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ตอบโจทย์ กระบวนการ BCG. Model และ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน/SDGs Model ตามกรอบเป้าหมายของสหประชาชาติ/ UN. ร่วมกับเครือข่ายจังหวัดระยอง และความเชื่อมโยงการขอสนับสนุนมอบทุนการศึกษาทุนแลกเปลี่ยนไทย – จีน ให้กับลูกหลานเกษตรกร เป็นต้น ซึ่งผลของการจัดงานครั้งนี้หวังว่าจะได้รับการตอบรับและการผลักดันจากรัฐบาล เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราอย่างเป็นระบบ สามารถดึงนักลงทุนอุตสาหกรรม และ อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม/ SMEs. ทั้งไทยและต่างประเทศ ได้มาร่วมลงทุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก/ EEC. เพิ่มขึ้น สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพเสริมต่อเกษตรกรชาวสวนยาง และ พืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ของจังหวัดระยอง และ ภาคตะวันออก ทั้งนี้ มุ่งหวังให้รัฐบาลเห็นความสำคัญพืชเศรษฐกิจยางพาราของประเทศไทย พร้อมทั้ง ผลักดันให้ “ยางพาราเป็นพืชวาระแห่งชาติ ก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางยางพารา( Hub) ของโลก เกิดความมั่นคงด้านอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา อีกทั้ง การผลักดัน ระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้เป็นวาระประเทศไทย โดยมี เป้าหมาย (Goal) สร้างความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้ตัวชี้วัด (Target) อันจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนายางพาราและพืชเศรษฐกิจภาคตะวันออกในองค์รวมเกิดความยั่งยืนต่อไป” ดร. อุทัย สอนหลักทรัพย์ กล่าวทิ้งท้าย