มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ผนึกกรมส่งเสริมการเกษตร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 15 ภายใต้แนวคิด “ผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agri-Entrepreneur)” พร้อมประกาศผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดดีเด่น ตามเป้าหมายอุดมการณ์สำนึกรักบ้านเกิด มุ่งมั่นตอบแทนคุณแผ่นดิน เป็นต้นแบบของเกษตรกร รวมถึงผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพเกษตรกร
คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มโครงการว่ามูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 ด้วยความตั้งใจที่จะร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมไทย โดยมูลนิธิฯได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ ภายใต้ 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่โครงการสำนึกรักบ้านเกิด สนับสนุนด้านการศึกษา กิจกรรมอาสาร่วมด้วยช่วยกัน ช่วยเหลือทุกความเดือดร้อน และกิจกรรมเพื่อสังคม ผ่านเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทั่วประเทศ และโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งเดินทางมาเป็นปีที่ 15 จนปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรมากมายและส่งต่อแรงบันดาลใจในการทำเกษตรอย่างยั่งยืน
“ในปีนี้ ได้กำหนดแนวคิดการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ภายใต้กรอบ ผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะ(Smart Agri-Entrepreneur) โดยส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดในเชิงการตลาดโดยมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ รู้จักการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีในการผลิต แปรรูป และการจัดจำหน่ายมุ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกร สนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย ขยายโอกาสทางตลาด ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าของสินค้า และสร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนรวมถึงการแข่งขันกับต่างประเทศ เพื่อเป็นผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะซึ่งต้องมีความเป็นผู้นำ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยมีความคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และภาคการเกษตรของประเทศไทย” คุณบุญชัย กล่าว
คุณบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตรต้องบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน โดยยกตัวอย่างโครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 15 ปี นับเป็นบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ และเชิดชูเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นเกษตรกรต้นแบบ สร้างแรงจูงใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในอาชีพเกษตรยุคใหม่ ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเอง และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืน
ด้าน คุณกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเกษตรกร ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติราชการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น” ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมกับมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จัดกิจกรรมประกวด “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบมีแนวคิดและการปฏิบัติด้านนวัตกรรมและการใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ มาพัฒนาต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต รวมถึงการพึ่งพาตนเอง สู่การสร้างความมั่นคงและยั่งยืน แก่คุณภาพชีวิตของตนเอง สังคม และชุมชน โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน และก้าวไกลยิ่งขึ้นไป และสิ่งสำคัญยิ่งคือช่วยให้เกษตรกรมีความอยู่ดีมีสุขได้อย่างแท้จริง
คุณชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้นำด้านเทเลคอม เทคคอมปานีของประเทศไทย ทรู คอร์ป มีความมุ่งมั่นสนับสนุนพันธกิจสำคัญของมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อยกระดับมาตรฐานเกษตรกรไทย ทรูเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งถึงศักยภาพของเกษตรไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโต ที่เสริมด้วยโครงข่ายสัญญาณที่แข็งแกร่งของทรู โซลูชันส์ใหม่ๆ ด้านสมาร์อะกริคัลเจอร์ และเพิ่มการเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่เกษตรกร เมื่อเกษตรกรมีทักษะดิจิทัลและสามารถเข้าถึงโซลูชันส์ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ตนเองและอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างสูงสุด “ผมขอแสดงความยินดีแก่ผู้ชนะรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประจำปี 2566 และขอยกย่องจิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่”
ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้รับรางวัลในปี 2566 ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ คุณวิชัย กำเนิดมงคล เกษตรกรจาก Coffee De Hmong กาแฟเดอม้ง จังหวัดน่าน พัฒนากาแฟไทยคู่กับการรักษาผืนป่า โดยให้ตลาดนำการผลิต ใช้นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายหลักในการทำแบรนด์คือต้องการสื่อถึงวัฒนธรรมความเป็นชาติพันธุ์ม้ง
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คุณอุมารินทร์ เกตพูลทอง เกษตรกรจากวิสาหกิจชุมชนปลาสลิดเกษตรพัฒนา จังหวัดสมุทรสาคร พบปัญหาราคาปลาตกต่ำจากพ่อค้าคนกลาง จึงคิดต่อยอดผลิตภัณฑ์ แปรรูปเพิ่มมูลค่า ได้มาตรฐาน ให้ความสำคัญกับผู้บริโภค ตามแนวคิด “สะอาด STANDARD สะดวก“
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คุณณัฎฐเอก อรุณโชติ จากสวนธรรมวัฒน์ จังหวัดชุมพร การนำมังคุดไปแปรรูป สร้างความยั่งยืน กับการหาความลงตัวตามปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยใช้โมเดล กินอยู่อย่างพอเพียง “โคกหนองนา” ลดต้นทุนและแรงงานการผลิต วางระบบน้ำ ใช้ปุ๋ยหมักชนิดน้ำผ่านระบบท่อ เพิ่มความชื้นในอากาศ ในช่วงที่มังคุดออกผลผลิต
นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรดีเด่น อีก 7 ท่าน ดังนี้ 1.คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ (ไร่แสงสกุลรุ่ง, TEAMPHUM) จังหวัดกาญจนบุรี 2.คุณปิตุพร ภูโชคศิริ (Hug Hed Farm ฮักเห็ด ฟาร์ม) จังหวัดขอนแก่น 3.คุณสันติสุข เทียนทอง (สันติสุขฟาร์ม) จังหวัดนครปฐม 4.คุณนิรันดร์ สมพงษ์ (โอ๋–ดาว ออร์แกนิคฟาร์ม) จังหวัดนครราชสีมา 5.คุณบุษบง งีสันเทียะ (ฟาร์มโคนมบุญชู) จังหวัดเพชรบูรณ์ 6.คุณนงนุช เสลาหอม (สวนหลังบ้าน) จังหวัดราชบุรี 7.คุณภูมิปณต มะวาฬ (ไรซ์เบิร์ด ออร์แกนิคฟาร์ม) จังหวัดสุโขทัย
สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2566 ทางคณะกรรมการฯ จะพิจารณาจากองค์ประกอบ 4 มิติ ได้แก่
1. คุณสมบัติความเป็นเกษตรกร มีรูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์ หรือวิถีอินทรีย์ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะด้านการสื่อสาร
2. คุณสมบัติด้านความเป็นเกษตรอินทรีย์ ทำเกษตรอินทรีย์ ที่ส่งเสริมและสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพให้แก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ เกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม แบ่งปันทรัพยากรในชุมชน รวมทั้ง ปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของคน
3. คุณสมบัติด้านผู้ประกอบการอัจริยะ (Smart Agri-Entrepreneur) ควรมีคุณสมบัติด้านการเป็นผู้ประกอบการที่รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการรวมกลุ่มเกษตรกร การจัดการทรัพยากร การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
4. คุณสมบัติด้านความยั่งยืน (Sustainability) ครอบคลุมด้านสังคม มีการรวมกลุ่มและการพัฒนาศักยภาพของชุมชน, การสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ชุมชน ด้านเศรษฐกิจสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับตนเองและคนในชุมชนต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติ จัดการของเสียและวัสดุเหลือทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด