กรุงเทพฯ 17 สิงหาคม 2566 – บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ดึงกูรูและผู้เชี่ยวชาญจากวงการอุตสาหกรรมพลาสติกและยางไทย ร่วมเปิดมุมมองและแนวทางการนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางและพลาสติกให้เกิดความยั่งยืน เพื่อเสริมแกร่งและยกระดับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมพลาสติกและยางไทยให้เติบโตไกลสู่ตลาดระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ กับงานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง หรือ International Trade Fair for the Plastics and Rubber Industries : T-PLAS 2023 ที่จะจัดขึ้นช่วงวันที่ 20 – 23 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก เปิดเผยว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้ทุก ๆ อุตสาหกรรมได้นำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาปรับใช้ รวมถึงพัฒนานวัตกรรมขึ้นใหม่ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ หนึ่งในนวัตกรรมที่มีความสำคัญและมีผลกระทบเชิงบวกกับธุรกิจอย่างมากก็คือ เทคโนโลยีที่ช่วยรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม และที่สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจแบบบีซีจี (Bioeconomy , Circular , Green) ซึ่งหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันดังกล่าวก็คือกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก โดยกำลังเร่งปรับตัวทั้งการเปลี่ยนการผลิตแบบเดิม ๆ การต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งมีมูลค่าสูง และการหาโซลูชันเพื่อให้พลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
“จากการดำเนินงานพบว่าผู้ประกอบการพลาสติกรายใหญ่มีการปรับตัวได้ดี และให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อการวิจัย การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต รวมถึงการสร้างสรรค์สินค้านวัตกรรม แต่ในส่วนของผู้ประกอบการรายเล็กยังจำเป็นต้องหาจุดแข็งหรือความเชี่ยวชาญของตนเองให้พบซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ และทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งยังควรหาพาร์ทเนอร์เพื่อสนับสนุนการเดินหน้าทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ด้านการลงทุน หรือพาร์ทเนอร์ที่มีการอัปเดตความรู้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมพลาสติกไทยยังต้องส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมพลาสติกเพิ่มขึ้น พร้อมกับสร้างองค์ความรู้ในสังคมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทั้งทางด้านเทคโนโลยีการจัดการขยะพลาสติก การใช้งานขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพทั้งกระบวนการ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน”
นายวีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสถาบันพลาสติกมีการส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมพลาสติกทั้งการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปริมาณการผลิต ปริมาณการใช้ และปริมาณการก่อขยะขึ้นมา เพื่อให้มีฐานข้อมูลในการอ้างอิงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน การพัฒนาพลาสติกชีวภาพ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการคัดแยกขยะพลาสติกสู่กระบวนการรีไซเคิล รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำอุปกรณ์เพื่อการลดพลังงาน และลดการสูญเสียจากการผลิตเข้ามาใช้ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่มีการนำพลาสติกเข้าไปเป็นส่วนสำคัญทางธุรกิจมากที่สุดก็คืออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีมากถึง 40% ของผลิตภัณฑ์จากพลาสติกทั้งหมด และการใช้พลาสติกทางการแพทย์ก็มีการเติบโตเป็นอย่างมากหลังจากพ้นช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
ด้าน นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) เปิดเผยว่า พลาสติกชีวภาพเป็นหนึ่งในองค์ประกอบในการสร้างความสำเร็จกับภาคเกษตกรรมทั้งในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ สามารถสร้างรายได้ได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงสร้างดีมานด์การใช้ใหม่ในกลุ่มผู้บริโภคได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งนี้จากการที่ประเทศไทยมีพืชเศรษฐกิจอย่างอ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ที่สามารถนำน้ำตาลมาแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ไทยจึงควรใช้ความได้เปรียบจากการเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบมาส่งเสริมอุตสาหกรรมกลางน้ำ ที่เป็นการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ รวมถึงปลายน้ำ ที่เป็นการใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกในกลุ่มประเทศที่ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย ส่งเสริมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากส่งเสริมได้จะช่วยทั้งในเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตพลาสติกที่ต่ำลง และตอกย้ำความเชื่อมั่นในฐานะผู้พัฒนาพลาสติกชั้นนำของโลก
“ประเทศไทยมีการผลิตน้ำตาลจากอ้อยเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว โดยมีทั้งการใช้บริโภคเองภายในประเทศและส่งออกซึ่งราคาการส่งออกน้ำตาลเป็นราคาที่ไม่สูงนัก ในขณะที่ถ้าได้แปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพราคาจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 10 เท่า ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจที่มีการนำพลาสติกชีวภาพมาปรับใช้อย่างต่อเนื่องมักจะเป็นธุรกิจร้านอาหารที่จำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อเป็นขยะจะสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ไม่ทิ้งสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตตามปกติที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ และสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
ดร.ณัฐไชย นะวิโรจน์ นายกสมาคมไทยคอมโพสิท เปิดเผยว่า ปัจจุบันวัสดุคอมโพสิท ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่แพร่หลายเพราะมีคุณสมบัติที่หาไม่ได้ในวัสดุอื่น ๆ การผสมระหว่างเรซิ่นและไฟเบอร์เสริมแรงทำให้เกิดวัสดุประเภทใหม่ที่มีความแข็งแรงเหนือกว่าเหล็ก ในขณะเดียวกันมีน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับพลาสติก นอกจากนั้นวัสดุคอมโพสิทยังสามารถทนความกัดกร่อนและอุณหภูมิที่สูงได้อีกด้วย ในปัจจุบันวัสดุคอมโพสิทถูกเอาไปให้ในหลากหลายอุตสาหกรรมและในผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ เรือ เครื่องบิน และสิ่งก่อสร้าง สำหรับประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์อยู่แล้วนั้น วัสดุคอมโพสิทเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากโดยเฉพาะในรถอีวี ซึ่งต้องการน้ำหนักที่เบาเป็นพิเศษ อย่างชิ้นส่วนต่าง ๆเช่น กันชน เคสแบตเตอรี่ ตัวถังและชิ้นงานประดับด้านในก็เหมาะกับการนำคอมโพสิทมาใช้ เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมเรือ ระบบราง และ เครี่องบิน โดยตัวถังของทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์นั้นจำเป็นที่ต้องทำจากวัสดุคอมโพสิทเท่านั้นถ้าต้องการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หรือแม้แต่ตึกและสะพานที่เก่าลงและจำเป็นต้องมีการซ่อมแซม การใช้คาร์บอนไฟเบอร์ไปซ่อมแซมโดยไม่ต้องทุบสิ่งก่อสร้างนั้น ก็เป็นวิธีที่ถูกยอมรับและใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ในโลกที่ไม่หยุดพัฒนาซึ่งให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ผ่านการออกแบบนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ออกแบบจะไม่คำนึงถึงความสำคัญของวัสดุคอมโพสิท
นายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า การจัดมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง หรือ International Trade Fair for the Plastics and Rubber Industries : T-PLAS 2023 ในครั้งนี้มีเป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกและยางในระดับภูมิภาค และในระดับนานาชาติ เปิดเวทีให้แต่ละองค์กรได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกและยางไปด้วยกัน โดยเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นพื้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมพลาสติก และยังคงใช้ไทยเป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมอื่นๆ เข้าด้วยกันโดยภายในงานมีการนำเสนอโซลูชันสำหรับอุตสาหกรรมครอบคลุมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่อัปเดทล่าสุด พร้อมทั้งวัตถุดิบต่าง ๆ ชิ้นส่วนทางเทคนิค ไปจนถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการจากทั้งอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยาง นอกจากนี้ T-PLAS 2023 ยังเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันดีมานด์ด้านพลาสติกและยางภายในประเทศไทยให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ นอกจากนี้ภายในงานยังส่งเสริมให้โมเดลเศรษฐกิจอย่าง บีซีจี โมเดล มีความชัดเจนมากขึ้นผ่านกิจกรรม และการแสดงนวัตกรรมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติก
สำหรับงาน T-PLAS 2023 นอกจากจะส่งเสริมผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมพลาสติกและยางของไทยให้เติบโตในระดับนานาชาติอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังนำเสนอมุมมองเศรษฐกิจหมุนเวียนในมิติของพลาสติกและยางที่กำลังเติบโต พร้อมทั้งยังตั้งเป้าหมายสร้างการจับคู่ธุรกิจที่เพิ่มขึ้น กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในไทยตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการจัดตั้งอุตสาหกรรมของรัฐบาล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยางจากองค์กรชั้นนำทั่วโลก สามารถติดตามการจัดงานงาน T-PLAS 2023 ได้ที่ https://www.tplas.com/