ช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัว 3.0% จากปีที่แล้วจากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลและ ธปท. เป็นสำคัญ ส่วนหุ้นกู้ระยะยาวมีมูลค่าการออกชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าการออก 207,126 ล้านบาท ซึ่งกว่า 93% เป็นหุ้นกู้ในกลุ่ม Investment grade นอกจากนี้ ผลสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2567 ประมาณ 2 ครั้ง รวม0.5% และมีโอกาสสูงที่ กนง. จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือนมิถุนายนนี้
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี2567 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างเท่ากับ 17.0 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.0% จากสิ้นปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลและ ธปท. เป็นหลัก ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 207,126 ล้านบาท หุ้นกู้ที่ออกส่วนใหญ่กว่า 93% อยู่ในกลุ่ม Investment grade กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เงินทุนและหลักทรัพย์ และอาหารและเครื่องดื่ม
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีการปรับตัวลดลงในรุ่นอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดย Bond yield รุ่นอายุ 2 ปี ปรับลดลง 19 bps. 5 ปี ลดลง 21 bps. และ 10 ปี ลดลง 19 bps. จากสิ้นปี 2566 มาอยู่ที่ 2.15% 2.24% และ 2.51% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567
เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) ในไตรมาส 1 ปี 2567 อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นอายุ 5 ปี กลุ่มอันดับเครดิต AAA ถึง A ปรับลดลง 15-21 bps. จากสิ้นปี 2566 โดยอันดับเครดิต AAA ปรับลงมาอยู่ที่ 2.90% AA ที่ 3.17% และ A ที่ 3.44% ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 ขณะที่หุ้นกู้อันดับเครดิต BBB+ และ BBB มีการปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4.68% และ 5.46% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมFlight to quality ของผู้ลงทุนที่มีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น
กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ของนักลงทุนต่างชาติในไตรมาส 1 ของปี 2567 เป็นการขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 34,305 ล้านบาท ทำให้มีการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 9.0 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 คิดเป็นสัดส่วน 5.3% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.8 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.6 ปี เมื่อสิ้นปี 2566
ทั้งนี้ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ยังกล่าวถึงผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในปี 2567 ที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 2 ครั้ง รวม 0.5% ในปี 2567 โดยมีโอกาสสูงที่ กนง. จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือนมิถุนายนนี้ สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า ในปี 2567 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี อาจปรับตัวลดลงเฉลี่ย 5-10 bps. จากสิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 มาอยู่ที่ 2.13% และ2.44% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2567 โดยปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อ Bond yield ในอนาคตคือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ และสภาวะเศรษฐกิจของไทย