เรื่องโดย : นายธนายุส บุญทอง และ นางนิลวรรณ ฟูเฟื่องสิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
อุตสาหกรรมไม้ยางแปรรูปของไทย แม้ภายนอกจะดูสดใส อย่างที่เห็นจากตัวเลขส่งออกที่ขยายตัวดี แต่ภายในอุตสาหกรรมเองต้องเผชิญการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นผลให้กำไรต่อหน่วยมีแนวโน้มลดลง อีกทั้ง ยังมีความท้าทายซ่อนอยู่หลายประการ ทั้งการ พึ่งพิงจีนตลาดเดียว การขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการกีดกันการค้าจากมาตรฐานจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน จึงเป็นโจทย์สำคัญให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตระหนักและวางแผนปรับตัวในในระยะข้างหน้า
2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไม้ยางแปรรูปของไทยไปได้ดี
ไม้ยางเป็นเพียงไม้ชนิดเดียวของไทยที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกได้ไม่จำกัดปริมาณ และเป็นไม้เศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ไม้ยางที่เข้าสู่โรงงานผลิตไม้ยางแปรรูป มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก สะท้อนจากปริมาณการโค่นยางที่เร่งตัวขึ้น จากสวนยางที่มีอายุครบกำหนดโค่นที่มีมากขึ้น ประกอบกับราคายางที่ลดต่ำลงต่อเนื่องในช่วง 4 ปีให้หลัง จูงใจให้มีการโค่นยางเร็วกว่าปกติด้วย ทั้งนี้ ในปี 2560 ประมาณการว่า มีสวนยางที่ตัดโค่นเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ถึง 2.6 เท่า
อุปทานไม้ยางที่เร่งตัวขึ้นมากสอดคล้องกับอุปสงค์ไม้ยางซึ่งสะท้อนผ่านปริมาณส่งออกไม้ยางแปรรูปที่เร่งตัวขึ้นมากเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจาก ปี 2555 ถึง 1.5 เท่า ซึ่งได้รับอานิสงส์จากภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ขยายตัวดีตามการขยายตัวของเมือง (Urbanization) โดยเฉพาะในหัวเมืองชั้นรองของจีน นอกจากนี้ มูลค่าส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ของจีนไปยังตลาดหลักสหรัฐอเมริกาก็มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของ International Trade Center ในช่วงปี 2555 – 2559 พบว่า มูลค่าส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ของจีนไปสหรัฐอเมริกาเติบโต ถึงร้อยละ 4 ต่อปี
การแข่งขันในอุตสาหกรรมได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย
จากภาพรวมอุตสาหกรรมไม้ยางแปรรูปที่ขยายตัวดีในช่วงที่ผ่านมา จูงใจให้มีผู้ประกอบการไม้ยางแปรรูปรายใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ขณะที่รายเดิมก็ทำการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับวัตถุดิบไม้ยางที่ออกมาต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการไม้ยางจากจีนที่มีต่อเนื่อง ทำให้การแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นปัญหาต่อตลาดในภาพรวม แต่กระทบกับผู้ประกอบการค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการแข่งขันแย่งซื้อวัตถุดิบกันมากขึ้น ทำให้ราคารับซื้อวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง ขณะที่ราคาขาย ถูกกดดันให้ลดลงจากการแข่งขันในการขายไม้ยางแปรรูปที่รุนแรงขึ้นเช่นกัน เป็นผลให้กำไรต่อ หน่วยของผู้ประกอบการปรับลดลง สะท้อนผ่านกำไรขั้นต้นต่อรายได้รวมของธุรกิจไม้ยางแปรรูปในภาพรวม จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 14.8 ในปี 2558 สู่ระดับร้อยละ 8.9 ในปี 2559
ทั้งนี้ แม้กำไรขั้นต้นต่อรายได้รวมธุรกิจไม้ยางแปรรูปในภาพรวมลดต่ำลง แต่กำไรโดยรวมก็ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นผลิตและส่งออกในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อชดเชยกำไรต่อหน่วยที่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม การใช้กลยุทธ์เพิ่มการผลิตเพื่อชดเชยกำไรต่อหน่วยที่ต่ำลงจะทำได้ยากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากคาดว่า ปริมาณวัตถุดิบไม้ยางจะลดลงตามวัฏจักรจากปริมาณไม้ยางที่มีอายุครบกำหนดโค่นที่ลดลง ขณะที่ความต้องการไม้ยางแปรรูป ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปัจจุบัน ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ปริมาณไม้ยางจะเริ่มขาดแคลนในช่วงดังกล่าวต่อเนื่องไปถึง 10 ปี (ก่อนจะกลับเข้าสู่ช่วงปกติตามวัฏจักร) ซึ่งแม้จะส่งผลดีให้ราคาไม้ยางขยับสูงขึ้นได้ แต่การแข่งขันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน
ผู้ประกอบการเผชิญความท้าทายสำคัญอีก 3 ประการ
นอกจากการแข่งขันที่ยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัจจุบัน อุตสาหกรรมไม้ยางแปรรูปของ ไทยยังต้องเผชิญความท้าทายสำคัญอีก 3 ประการ ที่อาจกระทบต่อธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ความท้าทายประการแรก เกิดจาก “ด้านการตลาด ที่มีคู่ค้าไม่หลากหลาย” กระจุกตัวเฉพาะตลาดจีน ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่กระทบต่ออุตสาหกรรม เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางของจีน อาจทำให้อุตสาหกรรมไม้ยางแปรรูปของไทย ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงปลายปี 2560 ที่รัฐบาลจีนมีความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ของจีนที่ไม่ผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมต้องปิดตัวลงชั่วคราว ส่งผลให้การส่งออกไม้ยางแปรรูปของไทยไปจีนชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้ายของปี
ประการที่สอง เกิดจาก “การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในกระบวนการเลื่อยไม้” ทำให้ไม่สามารถผลิตได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ การใช้เครื่องจักรกึ่งอัตโนมัติเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน ก็ยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงแต่คุณภาพไม้ ยังสู้การใช้แรงงานคนไม่ได้ประการสุดท้าย อาจเกิดขึ้นจาก “การกีดกันการค้าจากมาตรฐานจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีความเป็นไปได้ในอนาคตที่จีนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้รายสำคัญของโลกและเป็นคู่ค้าไม้ยางแปรรูปหลักของไทย อาจต้องการการรับรองมาตรฐาน เช่น Forest Stewardship Council (FSC) ด้วย
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องวางแผนปรับตัว
การแข่งขันที่มากขึ้นในทุกระดับซึ่งเป็นผลให้กำไรของผู้ประกอบการธุรกิจไม้ยางแปรรูปของไทย มีแนวโน้มลดลง รวมถึงการเผชิญความท้าทายอีกหลายประการ ล้วนเป็นโจทย์สำคัญให้ผู้ประกอบการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐได้ตระหนักและวางแผนปรับตัวในอุตสาหกรรมนี้ในระยะข้างหน้า ซึ่งแนวทางการปรับตัวที่พอเป็นไปได้ สามารถแบ่งได้หลักๆ ดังนี้
(1) หาตลาดอื่นเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการพึ่งพิงจีนเพียงตลาดเดียว โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่มีโอกาสเข้าไปบุกเบิกตลาดได้ จากแนวโน้มความต้องการไม้ยางของอินเดียที่เติบโตต่อเนื่องตามอุตสาหกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เติบโต ดี ทั้งนี้ ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยจับคู่ธุรกิจและลดปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้การค้าขายเป็นไปอย่างราบรื่น
(2) เพิ่มการใช้ไม้ยางแปรรูปในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ไม้ยางแปรรูปในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ และสนับสนุนให้มีการเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ไม้ในลักษณะ Niche ที่เน้นให้ความสำคัญเรื่อง มาตรฐานและการออกแบบรูปลักษณ์และการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ยุโรป เป็นต้น
(3) พัฒนาฝีมือแรงงานที่ไม่มีทักษะให้มีทักษะในกระบวนการเลื่อยไม้มากขึ้นผ่านการพัฒนาและฝึกอบรมฝีมือแรงงานในแต่ละโรงงาน ทั้งนี้ ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อลดการขาดแคลน แรงงานที่มีทักษะซึ่งเป็นปัญหามากในปัจจุบัน
(4) ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจและให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของมาตรการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน และผลักดันให้เกิดการรับรองมาตรฐานดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม โดยหากสวนยางพาราของไทยผ่าน มาตรฐานดังกล่าว ก็จะทำให้มีโอกาสขยายตลาดไป ยังประเทศอื่นที่มีศักยภาพ และสามารถใช้มาตรฐานดังกล่าวในการสร้างจุดขายเพื่อเสริมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ยางในลักษณะ Niche ต่อไป