ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานสหกรณ์กองทุนสวนยาง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ยกเป็นสถาบันเกษตรกรต้นแบบที่ช่วยยกระดับคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตยางพารา เพื่อช่วยหลือเกษตรกรบรรเทาปัญหาราคายางตกต่ำได้สำเร็จ สามารถผลักดันสินค้ายางพาราเพื่อส่งออกไปประเทศจีน ฟันยอดขายกว่า 135,000,000 บาทต่อเดือน ขยายโรงงานยางแท่ง STR20 ใหม่ ดันกำลังการผลิตเพิ่ม 6,000 ตันต่อเดือน ปลื้มเกษตรกรมีความเข้าใจกระบวนการผลิตยางคุณภาพเพื่อป้อนตลาด ส่งผลทำให้เป็นที่ยอมรับคุณภาพระดับสากล ผลิตจนไม่พอกับความต้องการ พร้อมตอบโจทย์ใช้ตลาดนำการผลิต
นายนิวัติ สุธีมีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อเยี่ยมชมโรงงานยางแผ่นรมควัน และโรงงานผลิตยางแท่ง STR 20 ของสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสหกรณ์ต้นแบบที่สามารถดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้สำเร็จ โดยเข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร นำไปใช้ในการขยายกำลังการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในโรงงานแปรรูปยาง หรือลงทุนจัดสร้างโรงงานใหม่ เมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งทางสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด ได้ขอกู้เงินจากโครงการดังกล่าวจำนวน 382 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างโรงงานยางแท่ง STR เพื่อรองรับผลผลิตยางพาราของเกษตรกรในพื้นที่และนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นยางแท่งเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ายางพารา
ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น สหกรณ์ได้นำเงินของสหกรณ์เองลงทุนสร้างโรงงานยางแผ่นรมควัน และสามารถขยายธุรกิจส่งออกยางแผ่นรมควันไปยังประเทศจีน ในนามของสหกรณ์เองโดยไม่ต้องผ่านตัวแทนหรือพ่อค้าคนกลาง ทำให้สามารถเพิ่มอำนาจต่อรองในธุรกิจยางพาราได้ และเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ ส่วนโรงงานยางแท่งที่ขอกู้เงินจากธกส.มานั้น เพิ่งสร้างเสร็จในปีนี้ ซึ่งคุณภาพยางแท่งที่สหกรณ์ผลิตได้เป็นที่ยอมรับในตลาดสากล ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินธุรกิจยางพาราของสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัดในครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายการแก้ปัญหาราคายางพาราของรัฐบาล ที่เดินมาถูกทาง โดยการสนับสนุนศักยภาพให้กับสหกรณ์ เพื่อสหกรณ์จะได้ไปดูแลสมาชิกเกษตรกรชาวสวนยางให้ผลิตยางพาราที่มีคุณภาพ และนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันและยางแท่งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามที่ตลาด ซึ่งธุรกิจของสหกรณ์ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หากทำอย่างจริงจังและมีความเข้าใจกระบวนการผลิตยางพาราที่มีคุณภาพและเข้าใจความต้องการของตลาดอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ในช่วงที่สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด ได้ตั้งโรงงานยางแผ่นรมควันขึ้นครั้งแรกนั้น เมื่อผลิตสินค้าออกมาก็ต้องประสบกับภาวะวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ และสินค้าถูกลูกค้าตีกลับจำนวนมาก ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้รับความเดือดร้อน สหกรณ์จึงเดินทางไปหาช่องทางการขยายตลาดในประเทศจีน ต่อมาจึงได้ก่อตั้งบริษัทขายยางที่เมืองชิงเต่า โดยได้รับความร่วมมือจากนายพินิจ จารุสมบัติ เป็นประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ในขณะนั้น นำตัวแทนสหกรณ์เดินทางไปดูงานภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันวิจัยยางธรรมชาติในเมืองชิงเต่ามณฑลซานตุง ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางค้ายางพาราของประเทศจีน ทำให้ผู้ผลิตยางพาราจำนวนมาก ไปเปิดหน้าร้านเพื่อขายยางพาราและรับออเดอร์ให้กับผู้ค้ารายย่อยและลูกค้าที่นั้น ปรากฏว่าขายดี มีลูกค้าซื้อจำนวนมากและได้รับออเดอร์สั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากทางออนไลน์มากขึ้น นี้จึงเป็นที่มาของการต่อยอดขยายธุรกิจและก่อตั้งโรงงานยางพาราอัดแท่งของสหกรณ์ในเวลาต่อมา
ปัจจุบันสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจจัดสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมยางพารา ซึ่งมีแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ธุรกิจรวบรวมยางแผ่นดิบ ธุรกิจรวบรวมน้ำยาง และธุรกิจแปรรูปยางแผ่นรมควัน (RSS) จากเกษตรกรในพื้นที่ทางภาคตะวันออก เพื่อนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นอัดก้อนส่งตลาดต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และไต้หวัน โดยโรงงานยางแท่งสหกรณ์เพิ่งเริ่มทำในปีนี้ ซึ่งคุณภาพที่ ผลิตได้ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล และมีตลาดส่งออกชัดเจน
สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด เป็นสหกรณ์แห่งเดียวที่ทำธุรกิจยางพาราที่ส่งออกได้ราคาดีที่สุด เนื่องจากยางพาราที่สหกรณ์ผลิตได้มีคุณสมบัติโดดเด่น คือ ความสามารถในการทำให้เป็นแผ่นบางได้ง่าย มีความเหนียว มีความสะอาด และยืดหยุ่นสูง ที่ผ่านมา สหกรณ์มีกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 3,000 ตัน มูลค่ากว่า 135 ล้านบาท ต่อเดือน สำหรับตลาดภายในประเทศ สหกรณ์ได้ผลิตยางป้อนให้กับ บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ชั้นนำของไทย อาทิ บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สยามมิชลิน จำกัด, บริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท โยโกฮามา ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในส่วนประกอบของรถยนต์อีกด้วย
สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด จึงเป็นสหกรณ์ต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินธุรกิจแปรรูปและจำหน่ายยางพารา เนื่องจากผู้บริหารของสหกรณ์แห่งนี้มีความเข้าใจเรื่องการผลิตเป็นอย่างดี ผลผลิตยางที่ผลิตได้มีคุณภาพสูง เพราะสหกรณ์รู้ความต้องการตลาดและตอบโจทย์การตลาดนำการผลิตได้ชัดเจน ซึ่งเป้าหมายการทำตลาดยางพารา การเน้นการเชื่อมโยงกันระหว่างสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เพื่อนเกษตรกรชาวสวนยางด้วยกัน ซึ่งขณะนี้ทางสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด ผลิตยางพาราป้อนตลาดไม่ทันกับออเดอร์ เนื่องจากลูกค้ามีความต้องการปริมาณสูงขึ้น และไม่สามารถแบ่งโค้วตายางให้กับที่อื่นได้ เนื่องจากสหกรณ์จะต้องรับผิดชอบเรื่องคุณภาพสินค้าที่จะส่งให้กับลูกค้าเป็นหลักสำคัญ หากนำยางจากที่อื่นไปส่งให้ลูกค้า เมื่อตรวจสอบแล้วคุณภาพไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ทำให้ลูกค้าผลิตสินค้าออกมาแล้วไม่ได้คุณภาพและเกิดความเสียหาย ลูกค้าก็จะตีกลับและเรียกปรับค่าเสียหายจากสหกรณ์ ซึ่งจะทำให้สหกรณ์เสียฐานลูกค้าได้
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเกษตกรต้องผลิตยางพาราที่มีคุณภาพ เพื่อนำป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูป ซึ่งจะทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพตรงกับที่ตลาดต้องการและสามารถขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตต่อไป
ติดตามข่าวสารข้อมูลยางและพลาสติกเพิ่มเติมที่ www.rubberplasmedia.com, www.rubbmag.com