ปัญหาขยะพลาสติกได้ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามผลกระทบที่แสดงให้เราเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลพวงของการใช้งานอย่างไม่หยุดยั้งมาตลอด 6 ทศวรรษ ถูกผลิตรวมกันไปแล้วมากกว่า 8,300 ล้านตันทั่วโลก
ตามข้อมูลของ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งกว่า 2 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้มีการแยกกลับไปใช้ประโยชน์เพียง 25% ส่วนที่เหลือกว่า 1.5 ล้านตัน จะถูกฝังกลบอย่างไม่เกิดประโยชน์ หรือเลวร้ายกว่านั้นคือเล็ดลอดออกสู่สิ่งแวดล้อม ลงสู่แหล่งน้ำ และกลายเป็นขยะทะเลที่กำลังสร้างผลกระทบให้เห็นมากมาย
ท่ามกลางความพยายามอันมากมายที่เกิดขึ้นเพื่อจัดการขยะพลาสติกเหล่านี้ ไม่ว่าจะนำกลับมาใช้ประโยชน์ เพิ่มมูลค่า หรือพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกหนึ่งทางเลือกที่กำลังถูกเผยโฉมคือการแปรเปลี่ยนไปสู่โครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนา นั่นคือ “ถนน”
เมื่อเร็วๆนี้ “ต้นแบบถนนพลาสติกรีไซเคิล” ได้ถูกสร้างขึ้นจากความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่าง เอสซีจี และ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ที่ได้นำพลาสติกใช้แล้วมาทดสอบเป็นส่วนผสมสำหรับสร้างถนนยางมะตอย ด้วยการศึกษาทดลองระยะเวลา 3 เดือน โดยมีความยาว 220 เมตร กว้าง 3 เมตร และหนา 6 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นทางสัญจรภายในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ.ระยอง
ถนนเส้นดังกล่าวถูกเปิดตัวครั้งแรกภายในงาน Sustainable Development Day หรือ SD Day 2018 เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2561 ควบคู่กับตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ที่ได้นำมาจัดแสดง เช่น ระบบโซลาร์ฟาร์มแบบลอยน้ำ การเปลี่ยนกากตะกอนอินทรีย์เป็นปุ๋ยไส้เดือนดิน การนำก๊าซเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ หรือการนำขยะพลาสติกในทะเลมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำบ้านปลา เป็นต้น
ขั้นตอนการทำถนนพลาสติกรีไซเคิลนี้ เริ่มจากการคัดแยกขยะภายในเอสซีจี และจากครัวเรือนชุมชน ซึ่งรวบรวมโดยเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง โดยนำพลาสติกที่ผ่านการคัดแยก อาทิ ถุงพลาสติกหูหิ้ว และถุงใส่อาหาร มาผ่านกระบวนการบดย่อยให้มีขนาดเล็ก เข้าสู่กระบวนการผลิตโดยผสมกับยางมะตอย แล้วจึงนำยางมะตอยที่มีส่วนผสมของพลาสติกบดแล้วมาปูถนนด้วยวิธีปกติทั่วไป
สิ่งที่พบตามมาคือ นอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้ยางมะตอยในการสร้างถนน ลดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตยางมะตอย และลดปริมาณขยะพลาสติกแล้ว ยังพบว่าคุณสมบัติของพลาสติกช่วยให้ถนนมีความคงทนแข็งแรงเพิ่มขึ้น และยังช่วยต้านทานการกัดเซาะของน้ำได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผลการทดสอบ Asphalt concrete โดยภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พบว่าถนนเส้นนี้มีความสามารถในการรับแรง (Marshall stability) ดีขึ้น 15-30%
ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เปิดเผยว่า ต้นแบบถนนดังกล่าว มีการผสมพลาสติกที่สัดส่วน 8% โดยเลือกใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งมีมูลค่าต่ำและนำไปรีไซเคิลได้ยาก ทั้งนี้เมื่อเทียบกับถนนมาตรฐานหน้ากว้าง 6 เมตร การสร้างถนนทุก 1 กิโลเมตร จะสามารถผสมขยะพลาสติกได้ 4 ตัน ขึ้นกับความหนาและสเปคของถนน
ในส่วนขั้นต่อไปหลังจากนี้ เขามองว่าสามารถที่จะเสนอแนวคิดดังกล่าวไปยังหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการทำถนน ให้มีการนำพลาสติกเข้ามาใช้ อย่างไรก็ตามการที่จะขยายผลนำมาใช้งานจริงเพื่อสร้างถนนของประเทศนั้น จะต้องมีการทำให้เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องมีการปรึกษาหารือกับกรมทางหลวงต่อไป
“การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น สิ่งสำคัญคือความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาสังคม ซึ่งเอสซีจีพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในผู้ขับเคลื่อน และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์และยั่งยืน” ชลณัฐ กล่าว
ถนนเส้นนี้ คือตัวอย่างสำคัญของแนวคิดตามหลักการ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ “Circular Economy” ที่มุ่งรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่การผลิต การใช้ และการวนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ (Make – Use – Return) เพื่อช่วยแก้ปัญหาทรัพยากรโลกที่ไม่เพียงพอ อันจะเป็นปัญหาที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต