บีโอไอ เล็งตลาดต่างประเทศเป็นโอกาสสำคัญนักลงทุนไทย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี หลังทุนนอกรายใหญ่แห่ขยายตลาด ย้ำต้องเร่งยกระดับธุรกิจ ผนึกพันธมิตรลงทุนรูปแบบคลัสเตอร์ เสริมแกร่งธุรกิจ หนุนบุกตลาด 3 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ แอฟริกาตะวันออก เอเชียกลาง เอเชียใต้ พร้อมเปิดหลักสูตรสร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันอย่างเต็มพิกัด
นายชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากแผนยุทธศาสตร์ประเทศที่ต้องการยกระดับประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางโดยพยายามยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ และขยายการลงทุนในประเทศเป้าหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน บีโอไอจึงมีอีกบทบาทที่สำคัญ เพื่อผลักดันนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์หลายประการเช่น แสวงหาตลาดใหม่ วัตถุดิบ แรงงาน รวมไปถึงโอกาสต่อยอดทางธุรกิจออกไปหาลู่ทางในประเทศใหม่ๆที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต
“ทั้งนี้ บทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจนของกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เรามุ่งเน้นศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของประเทศเป้าหมายและนักลงทุนเป้าหมาย เพื่อจัดทําฐานข้อมูลการลงทุนของประเทศเป้าหมายและนักลงทุนเป้าหมาย และยังจัดทำยุทธศาสตร์ชักจูงการลงทุนรายประเทศและแผนงานชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมทั้ง ดำเนินกิจกรรมตามแผนงานชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และสร้างเครือข่ายการชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งประสานงานกับสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ และคอยติดตามและประเมินผลการดําเนินกิจกรรมชักจูงการลงทุน เป็นต้น”
ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เสริมว่า ปัจจุบันโอกาสการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศนั้นเปิดกว้างอย่างมาก แต่ก็มีความท้าทายและการแข่งขันที่สูงขึ้น จะเห็นได้ว่าการลงทุนของต่างชาติใน สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม เปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งแต่ละประเทศมีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนไม่กี่ประเทศ และไทยถือเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ แต่ในช่วงหลังเริ่มมีการแข่งขันสูงขึ้น เห็นได้จากอันดับการเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว เมียนมา นักลงทุนไทยถูกเบียดอันดับมาอยู่รั้งท้ายกลายเป็นกลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ขยับขึ้นมาอยู่อันดับต้นๆ แทน ขณะเดียวกันบรรดานักลงทุนท้องถิ่นในประเทศซีแอลเอ็มวี ยังได้พยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเน้นดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้นและให้ความสำคัญกับนักลงทุนจากทวีปยุโรป และญี่ปุ่นเนื่องจากมีศักยภาพสูง
นายชูวงศ์ ยังแนะว่า รูปแบบการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศของไทย ควรเข้าไปในรูปแบบคลัสเตอร์ หรือมีการรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ ซึ่งต้องดำเนินการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าบริษัทจากญี่ปุ่นได้เปรียบในการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากการเข้าไปลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยมีกลุ่มบริษัทใหญ่เข้าไปลงทุนก่อนและมีกลุ่มผู้ผลิตรายเล็กเข้าไปรับช่วงการผลิตอีกทอดหนึ่ง
“นักลงทุนไทย จะต้องยกระดับการพัฒนาทางเทคโนโลยีไปพร้อมกับประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นกว่าเดิม เห็นได้ชัดว่าบริษัทจากประเทศจีนที่ลงทุนในต่างประเทศเขาจะลงทุน 2 ด้านคือ เข้าไปลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อเข้าไปหาเทคโนโลยีและพัฒนาองค์ความรู้ อีกด้านหนึ่งคือไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเป็นการผ่องถ่ายเทคโนโลยีให้ประเทศที่เข้าไปลงทุนด้วย เป็นการยกระดับการเข้าไปลงทุนต่างประเทศ” นายชูวงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ การออกไปลงทุนในต่างประเทศต้องอาศัยความพร้อมหลายมิติ ทั้งองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจ การตลาด การเงินระหว่างประเทศ ความรู้ความเข้าใจกฎหมายท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ความเข้าใจกฎหมายระหว่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุด เรื่องกฎระเบียบเงื่อนไขต่างๆ บริบททางด้านสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องกัน จากการสำรวจในช่วงที่ผ่านมา ยังมีประเทศในกลุ่มตลาดใหม่ที่น่าสนใจ และคาดว่าจะพานักลงทุนไทยไปเปิดตลาด เช่น แอฟริกาตะวันออก เอเชียกลาง เอเชียใต้ ที่เพิ่งเปิดประเทศ รอรับการลงทุนจากต่างประเทศ มีกฎหมายและหน่วยงานให้การส่งเสริมการลงทุน ขณะที่ ภาพรวมอุตสาหกรรมของไทย มีจุดเด่นอยู่หลายด้าน ทั้งด้านการผลิต เทคโนโลยี และบุคลากร เช่น เกษตรแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน พลังงาน ดิจิทัล บริการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมยางและพลาสติก เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ในประเทศตลาดใหม่เป็นที่ต้องการอย่างมาก นักลงทุนไทยควรใช้โอกาสนี้บุกตลาดใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองและอุตสาหกรรมของประเทศในภาพรวม
นายชูวงศ์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ ภาครัฐได้มอบหมายให้บีโอไอดำเนินกิจกรรมที่จะผลักดันศักยภาพของเราที่มีอยู่ นำมาเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน ต้องทำกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ สร้างความเชื่อมั่น สร้างความเข้าใจให้นักลงทุน มีความกล้าที่จะออกไปสำรวจและแสวงหาโอกาส โดยศูนย์พัฒนาการลงทุนไทยในต่างประเทศ หรือ Thai Overseas Investment Support Center : TOISC ได้จัดอบรมหลักสูตร “สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ” ซึ่งจัดตั้งโดยกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ได้ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรนี้มาอย่างต่อเนื่องหลายปี ครั้งนี้นับเป็นปีที่ 8 แล้ว โครงการสร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนานักลงทุนไทยให้พร้อมออกไปลงทุนในต่างประเทศ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และจัดอบรมไปแล้วทั้งหมด 15 รุ่น มีผู้จบหลักสูตรทั้งสิ้น 546 ราย มีนักลงทุนที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรมีการเข้าไปลงทุนและร่วมทุนยังต่างประเทศแล้วจำนวน 179 ราย อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมก่อสร้างอุปกรณ์ตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ และ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติก ประเทศที่ไปลงทุนมากที่สุดอยู่ในกลุ่มอาเซียน คือ เมียนมา เวียดนาม  สปป.ลาว กัมพูชา และ อินโดนีเซีย ตามลำดับ รองลงมาคือกลุ่มยุโรป เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก ส่งผลให้มีผู้ประกอบการไทยจำนวนมากที่สนใจเข้าร่วมฝึกอบรมดังกล่าว
สำหรับรุ่นปัจจุบัน เป็นรุ่นที่ 16 – 17 ถือว่านักลงทุนไทยให้การตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากมีผู้สมัครมากกว่า 100 ราย ครั้งนี้คณะกรรมการได้คัดเลือกกันอย่างเข้มข้น ทำให้ได้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ มีมุมมองด้านการลงทุนในต่างประเทศอย่างแท้ทริงจริง โดยคัดเหลือเพียง 60 ราย ดังนั้น หลักสูตร “สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ” จึงเป็นหลักสูตรเข้มข้นที่เน้นการลงทุนในต่างประเทศเป็นการเฉพาะ โดยการเติมเต็มความรู้ที่จำเป็นให้ครบทุกมิติ มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักลงทุนตัวจริง ที่มีความรู้และประสบการณ์จริงจากการลงทุนในต่างประเทศมาเล่าเรื่องประสบการณ์ รวมทั้งเชิญวิทยากรผู้รู้ในแต่ละสาขาวิชาที่จำเป็นต่อการออกไปลงทุนในต่างประเทศมาบอกเล่าเคล็ดลับและวิธีการปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ จึงถือว่าเป็นหลักสูตรที่เป็นการเรียนอย่างกระชับในด้านการลงทุน  กิจกรรมของหลักสูตร มีทั้งการบรรยายถ่ายทอดประสบการณ์ การเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมอง การจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในรุ่นและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นที่ผ่านมาและรุ่นปัจจุบัน รวมทั้งการจัดกิจกรรมศึกษาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศซึ่งจะเป็นโอกาส ให้ผู้ประกอบการไทยเข้าพบกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้มีโอกาสพบปะผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนอยู่ในประเทศต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจไทย กับนักธุรกิจของประเทศนั้น ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นพันธมิตรด้านการลงทุนในอนาคต
นักลงทุนที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โทรศัพท์ 02-553-8111 ต่อ 6177 หรือ 6245 อีเมล์ toi@boi.go.th และเว็บไซด์ http://toi.boi.go.th

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here