โดย นายศตพร สภานุชาต สถาบันพลาสติก
เศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ระดับ Demand ภาคอุปโภคและบริโภคในภาพรวมยังคงเบาบาง ซึ่งกระทบต่อความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมพลาสติกไทยด้วยเช่นกัน โดยในเดือนนี้ ทิศทางราคาน้ำมันดิบในภาพรวมยังมีสัญญาณอยู่ในช่วงขาลง ปัจจัยหลักยังคงเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่เริ่มส่งผลกระทบให้เกิดความกังวลในประเด็นการเข้าสู่ช่วง Recession ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทางด้านราคาเม็ดพลาสติกภาพรวมยังคงอ่อนตัวตามทิศทางราคาน้ำมันดิบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลต่อการเติบโตของ Demand รายภูมิภาคที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก
การผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกไทย สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลุ่มเม็ดพลาสติกหดตัวลงจากเดือนที่ผ่านมา -1.6% สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่ปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมา -3.7% คาดว่าเป็นการปรับลดปริมาณการผลิตให้สอดรับกับระดับ Demand ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่อยู่ในภาวะชะลอตัว สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกภาพรวมปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนที่ผ่านมาในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูปที่อัตรา +0.8% และหดตัวในกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่อัตรา -1.8%
มูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกหดตัวจากเดือนที่ผ่านมา -5.0% และหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง -24.8% การหดตัวของมูลค่ายังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยราคาเม็ดพลาสติกที่ทรงตัวในระดับต่ำเป็นหลัก โดยค่าเฉลี่ยราคาเม็ดพลาสติก Commodity สะสม 8 เดือนแรกในปี 2019 หดตัวกว่า -15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผนวกกับการแข็งค่าของเงินบาทที่กดดันการส่งออก นอกจากนี้ Demand เม็ดพลาสติกที่ในแต่ละภูมิภาคทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกดังที่กล่าวไปนั้น สะท้อนจากการหดตัวของปริมาณการส่งออกเม็ดพลาสติกในภาพรวมที่หดตัวลงทั้ง MoM และ YoY ในอัตรา -7.7% และ -10.2% ตามลำดับ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกภาพรวมขยายตัวจากเดือนที่ผ่านมา ได้เล็กน้อยที่ +2.8% จากการขยายตัวในภูมิภาคเอเชีย (+5.2%) โดยตลาดญี่ปุ่นมีการนำเข้าสินค้าพลาสติกจากไทยเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา +13.2% เป็นมูลค่ากว่า 260 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมุม YoY การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกยังคงหดตัวกว่า -14.8% โดยหดตัวในทุกตลาดทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ภาวะการส่งออกของอุตสาหกรรมพลาสติกไทยสะสม 8 เดือนแรกของปี 2019 ยังคงหดตัวค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยหดตัวถึง -12.0% ในกลุ่มเม็ดพลาสติก และ -5.2% ในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งจะต้องเฝ้าติดตามความเป็นไปได้ในการฟื้นตัวขอ Demand ภาคอุปโภคบริโภคในช่วง Q4 ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่จะมีแรงกระตุ้นจากเทศกาลต่างๆ ซึ่งอาจทำให้การผลิต ส่งออก และบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวได้บ้าง