กรุงเทพมหานคร (เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565) : คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ร่วมกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน), สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, การกีฬาแห่งประเทศไทย, สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน), สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง บูรณาการจัดแถลงผลการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรมกีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2565 ภายใต้แนวคิด ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พลิกโฉมประเทศไทยสู่การเปลี่ยนแปลง : CSLH Thailand Collaboration for Change นำคณะแถลงผลโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อมด้วยประธานอนุกรรมการหลักทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ด้านวัฒนธรรม คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ด้านกีฬา นายนคร ศิลปอาชา ด้านแรงงาน และนายรณภพ ปัทมะดิษ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน โดยงานจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ สุราลัยฮอลล์ ชั้น7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
นายวิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี) กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศในภาพองค์รวมว่า “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุดนี้ เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่แต่งตั้งเพิ่มเติมจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 12 ด้านที่มีอยู่เดิม เพื่อให้การจัดทำและขับเคลื่อนประเด็นการปฏิรูปมีความครอบคลุมยิ่งขึ้น ตลอดช่วงเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนการเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้านและการสร้างผลงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการบริการภาครัฐที่รวดเร็วมากขึ้น ขั้นตอนลดลง ประชาชนได้รับความสะดวกในการติดต่อกับราชการซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของสถาบันชั้นนำในต่างประเทศที่ประเมินว่าภาครัฐของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด การบริการต่างๆ อยู่ในรูปแบบของดิจิทัลมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการและการประกอบธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ผลการดำเนินงานข้างต้นก็เป็นที่ประจักษ์ได้ว่าการปฏิรูปได้เดินมาอย่างถูกทิศทางถึงแม้จะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและการขับเคลื่อนบ้างก็ตามคณะกรรมการฯ ก็ได้ปรับวิธีการทำงานโดยใช้ความร่วมมือและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งจากภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จนก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งการริเริ่มและดำเนินการแล้วเสร็จ ผมอยากถือโอกาสนี้เน้นย้ำกับทุกท่านว่า การปฏิรูปประเทศหรือการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องใช้เวลาเพราะต้องเปลี่ยนแปลงในสิ่งเดิมมาสู่สิ่งใหม่ ต้องอาศัยภาครัฐในการสร้างและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และจะต้องอาศัยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การรับมือกับสถานการณ์ด้านกำลังคนต่าง ๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอนาคตที่นับวันจะคาดการณ์ได้ยากขึ้น”
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้กล่าวถึงผลการปฏิรูปประเทศทั้ง 4 ด้าน โดยรวมว่า “การปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรมกีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้เริ่มต้นเขียนแผนงาน วางโครงการตั้งแต่ปี 2563 โดยใช้การทำงานในรูปแบบใหม่ คือ การหาความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรมหาชน และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆเข้ามาช่วยกันให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรม และดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ สำหรับผลงานการปฏิรูปที่ได้เริ่มต้นดำเนินการ และมีให้เห็นแล้วในตอนนี้ คือ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ให้ประชาชนบนสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้ได้เปิดให้บริการเป็นที่แรกที่สถานีรถไฟฟ้าจตุจักร และยังตามมาด้วยสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ โดยประชาชนสามารถหาความรู้ อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ เพียงสแกนคิวอาร์โค๊ดก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้ เราอยากทำให้ได้ทุกๆที่ จะได้ปลูกฝังค่านิยมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาอ่านหนังสือกันเยอะๆ ส่วนด้านแรงงาน เราได้ทำระบบ E-Workforce Ecosystem Platform ที่สามารถทำให้การหางานทำ และการรับสมัครงานเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น ระบบจะช่วยให้บริษัท หรือหน่วยงานต่างๆ ได้แรงงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในระบบยังมีการพัฒนาความรู้ความสามารถให้แก่แรงงานอีกด้วย ในด้านวัฒนธรรม เราสร้างลานวัฒนธรรม ถนนวัฒนธรรม ในหลายๆจังหวัดส่วนด้านกีฬา ก็มีการสร้างลานกีฬา ถนนกีฬา ในชุมชนต่างๆและมีการร่วมมือกับภาคเอกชน สร้างลานกีฬาในห้างสรรพสินค้า เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมาออกกำลัง เพื่อร่างกายที่แข็งแรง ทั้งนี้ ผลการปฏิรูปทั้งหมดที่ผมกล่าวมาเราอยากให้ประชาชนได้ผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ มากที่สุด”
รายละเอียดและกิจกรรมสำคัญในการปฏิรูปด้านวัฒนธรรม คณะอนุกรรมการด้านวัฒนธรรมฯ ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กรมศิลปากร สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนเป้าหมายการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม ในการส่งเสริม ประชาชนมีคุณธรรมจริยธรรมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม ผ่านการดำเนินกิจกรรมปฏิรูปที่สำคัญ ใน 2 กิจกรรม ได้แก่
1. การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในทุกช่วงวัย ผ่านการปฏิรูปอุตสาหกรรมบันเทิงและการใช้กลไกร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่สำคัญได้แก่ การพัฒนามาตรฐานคุณธรรม การถอดบทเรียนชุมชนคุณธรรมต้นแบบ 204 แห่ง การมอบรางวัลคุณธรรมอวอร์ด และการพัฒนาระบบเครดิตสังคม
2. การพัฒนาการเรียนรู้และเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรมแบบบูรณาการ ดำเนินกิจกรรมใน 2 ประเด็น ดังนี้
2.1 การพัฒนาการเรียนรู้ มีการดำเนินกิจกรรม คือ การพัฒนาระบบการจัดการองค์ความรู้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่การพัฒนาระบบบริการข้อมูลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ พัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ของหอจดหมายเหตุและหอสมุดแห่งชาติ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ และแพลตฟอร์มการเรียนรู้สาธารณะรูปแบบใหม่(Knowledge Portal)
2.2 การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรม โดยการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (CCPOT) สู่สากล การพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมตามรอยศาสตร์พระราชาเพื่อชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ การสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์สินค้าท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การส่งเสริมและกระตุ้นการสร้างธุรกิจในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
รายละเอียดและกิจกรรมสำคัญในการปฏิรูปด้านกีฬา โดยคณะอนุกรรมการด้านกีฬาได้แถลงผลการปฏิรูปที่เกิดขึ้นดังนี้
1. การส่งเสริมประชาชนเป็นศูนย์กลางในการสร้างวิถีชีวิตทางการกีฬาและการออกกำลังกายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมผ่านการยกระดับลานกีฬาท้องถิ่น การพัฒนาธนาคารอุปกรณ์กีฬา (Sport Bank) โดยมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด เจ้าหน้าที่พลศึกษาประจำอำเภอและประจำจังหวัด การจัดแข่งขันกีฬาในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยได้จัดสรรงบประมาณให้จังหวัดจัดกิจกรรม 878 อำเภอ การจัดทำแพลตฟอร์มระบบการประมวลผลข้อมูลกิจกรรมการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge : CCC) ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 โดยมีแคลอรี่สะสมแล้วกว่า 53 ล้านแคลอรี่ การจัดถนนกีฬา อย่างน้อย 1 แห่งทุกจังหวัด อย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 วัน ในพื้นที่นำร่อง 25 จังหวัด การจัดให้มีนักส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาโดยให้เจ้าหน้าที่พลศึกษาประจำทุกจังหวัดทุกอำเภอส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกาย เล่นกีฬา และกิจกรรมนันทนาการ กิจกรรม Sport Every Events : SEE โดยเริ่มดำเนินการใน 2 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์และเชียงราย
2. การสร้างโอกาสทางการกีฬาและการพัฒนานักกีฬาอาชีพ โดยพัฒนาห้องเรียนกีฬา ที่มีการยกระดับหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางกีฬาให้รอบด้าน โดยนำร่อง 6 แห่ง ก่อนขยายผลโรงเรียนอื่นอีกทั้ง ยังมีการจัดทำหลักสูตรเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นนักกีฬาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ถึงปริญญาเอก การพัฒนาทักษะผู้ตัดสิน จำนวน 1,298 คน การจัดทำระบบพัฒนานักกีฬาเต็มเวลาระยะยาว (Full-time Athletes) รวมถึงจัดทำเส้นทางสายอาชีพของนักกีฬา (Athlete pathway) และการออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการจัดงาน การจัดกิจกรรมสาธารณะการส่งเสริมกีฬา และการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ ยังมีการปฏิรูปการทำงานด้านความรอบรู้ด้านสุขภาพแบบองค์รวม ผ่านการจัดตั้งมูลนิธิสถาบันความรอบรู้ไทย เพื่อเตรียมดำเนินกิจกรรมการรอบรู้ด้านสุขภาพ ความรอบรู้ด้านการเงิน การรอบรู้ด้านดิจิทัล ความรอบรู้ด้านสื่อบันเทิง การรอบรู้ด้านประกันภัย สำหรับข้อเสนอแนะต่อการปฏิรูปในระยะต่อไป ได้แก่ 1. สำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณเป็นการจำเพาะให้กับด้านการกีฬาเพื่อการส่งเสริมการออกกำลังกาย และพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อการอาชีพ และการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬา และ 2. ควรมีการสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพ และการสร้างพฤติกรรมการเล่นกีฬาและออกกำลังกายให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมและสอดคล้องกับความต้องการได้ครบถ้วนทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย โดยมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รายละเอียดและกิจกรรมสำคัญในการปฏิรูปด้านแรงงาน โดยคณะอนุกรรมการด้านแรงงานได้แถลงผลการพัฒนาแพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem Platform : EWE) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการพัฒนากำลังคนอยู่บนโครงสร้างเดียวกัน ประกอบด้วย ระบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ (E-portfolio) ที่จัดเก็บข้อมูลของบุคคลอย่างเป็นระบบ อาทิ หลักฐานการเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานการพัฒนาตนเอง ระบบแนะแนวอาชีพ (Career Guidance) ระบบคูปองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (E-Coupon) ระบบสั่งสมสมรรถนะการเรียนรู้ (Digital Credit Bank) และระบบจับคู่งาน (Job Matching) โดยมีการทำ EWE Sandbox เพื่อสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและกำลังแรงงานในภาพรวมแล้ว
พร้อมเตรียมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิต และพัฒนากำลังคนของประเทศไทยภายใต้ระบบ EWE กับ 50 หน่วยงาน นอกจากนี้ ยังพัฒนาความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) นำระบบ AI มาประมวลผล และการทำMachine Translation ของการเชื่อมโยงการรหัสอาชีพของมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ /องค์การยูนิเซฟประเทศไทย สร้างเว็บไซต์และแอปพลิเคชันเกี่ยวข้องกับ EWE/ ธนาคารกรุงไทย สนับสนุนการพัฒนาระบบคูปองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้สามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังและถุงเงิน
รายละเอียดและกิจกรรมสำคัญในการปฏิรูปด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้ให้ข้อมูลผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น ดังนี้
1.พัฒนาศูนย์การเรียนรู้/ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ขนาดย่อมบนสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ บริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด(มหาชน) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาคีอื่นๆ โดยจุดแรกที่เริ่มดำเนินการ คือ สถานีรถไฟฟ้าสวนจตุจักร และจุดที่สองคือ สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ อีกทั้ง มีการจัดทำตู้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยนำร่องจัดตั้งที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และสำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการอ่านแก่เยาวชนและประชาชน
2.การบริหารจัดการศักยภาพบุคลากรภาครัฐของประเทศโดยจัดสรรทุนรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศในสาขาวิชาที่ขาดแคลน นำร่อง 2 สาขา ได้แก่ ทุนด้านวิทยากรข้อมูล (Data Science) และทุนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) ทั้งนี้ ปี 2564 มีผู้รับทุนบรรจุเข้ารับราชการ 9 รายใน 4 ส่วนราชการ รวมถึงมีจัดสรรทุนศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่โดดเด่นในด้านต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับปรุงกลไกการบริหารทรัพยากรบุคคลสำหรับผู้รับทุนรัฐบาล (HRM for Digital Talents) และการส่งเสริมการรวมกลุ่มและการแสดงศักยภาพของข้าราชการ การพัฒนาและยกระดับศักยภาพข้าราชการ เพื่อต่อยอดการพัฒนาข้าราชการที่มีศักยภาพ โดยจัดสรรทุนเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ข้าราชการไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ ทุนฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ และทุนฝึกอบรมนวัตกรรมดิจิทัล
3.การพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ โดยเป็นการร่วมมือระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ โรงเรียนเมืองพัทยา 11 นายกเมืองพัทยา และภาคีเครือข่าย โดยมีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นพี่เลี้ยง ปัจจุบันมีการเปิดหลักสูตรเสริมใน 6 กลุ่มสาขา เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบความถนัดหรือเรียนตามความสนใจ (กลุ่มแพทย์ เภสัชกรพยาบาล วิทยาศาสตร์สุขภาพและสาธารณสุข กลุ่มวิศวกรรมและเทคโนโลยี สถาปัตยกรรม กลุ่มบริหาร ผู้ประกอบการ การตลาด กลุ่มมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลุ่มภาษาศาสตร์ และกลุ่มทัศนศิลป์ ดนตรี นาฏศิลป์การแสดง(ทัศนศิลป์) ทั้งนี้ ในระยะต่อไป จะมีการพัฒนาทักษะการเรียนการสอนของครู รวมถึงจัดหาผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญนอกจากนี้ TK Park ยังสนับสนุนการปรับปรุงพื้นที่การเรียนรู้ในห้องสมุดของโรงเรียนเมืองพัทยา 11 พร้อมติดตั้งระบบ E-Library และคณะอนุกรรมการด้านวัฒนธรรมฯ ยังให้การสนับสนุนกิจกรรมทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญในจังหวัดชลบุรีในรูปแบบ One day trip
4. การพัฒนาความรอบรู้ทางด้านดิจิทัล (Digital Literacy: DL) โดยจัดทำโครงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ของศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้พัฒนาระดับสมรรถนะสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Competency : DC ) ที่ครอบคลุมองค์ประกอบทั้งด้านความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และการประยุกต์ใช้ (Apply) แบ่งออกเป็น 3 ขั้น 7 ระดับ โดยตั้งเป้าหมายวัดประเมินและพัฒนาสมรรถนะ DC แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. ประมาณ 300,000 คน / โครงการส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) หรือ C4T โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นการอบรมแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://teacherpd.ipst.ac.th โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีการอบรมไปแล้ว 2 รุ่น นอกจากนี้ ยังมีแผนให้นำหลักสูตรวิธีการพัฒนาครู DL ต้นแบบ รวมทั้งนำ DC ของศูนย์ HCEC ไปทดลองใช้ในโรงเรียนต้นแบบ (โรงเรียนเมืองพัทยา 11) รวมถึงให้นำกรอบแนวทางในการพลิกโฉมการศึกษายุคดิจิทัล K-12 Education Transformation framework มาประยุกต์ใช้ด้วย
5. การจัดทำแพลตฟอร์มการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ (Talent Utilization Platform for National Talent Pool) โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Talent Thailand แล้วเสร็จ (https://talent.nxpo.or.th) มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลกำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ (Talent Pool) และการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ (Talent Utilization) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการทำงานของหลายหน่วยงานให้สามารถนำผู้มีศักยภาพสูงไปทำงานที่ตรงความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ
นอกจากนี้ คณะกรรมการปฏิรูปฯ ยังได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อปรับระบบวิธีการปฏิบัติราชการขององค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ทันสมัยมุ่งผลสัมฤทธิ์ โปร่งใสคล่องตัวสูง ลดความซ้ำซ้อน โดยเน้นที่การส่งเสริมให้เกิดแนวทางในการจัดตั้ง “สถาบันตรวจประเมินวิชาการผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ตามรูปแบบที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยได้มีการศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกต่าง ๆ ทั้งนี้จะได้มีการหาข้อสรุปร่วมกับสำนักงาน อย. ต่อไป
ภายในงานยังมีการเสนอมุมมองแนวทางการปฏิรูปและพัฒนาประเทศในอนาคต ในหัวข้อ Building Human Capital for the Next Chapter of Thailand Development : สานต่อ เดินหน้าพัฒนาคนไทย ร่วมเสวนากับนายถกลเกียรติ วีรวรรณ CEO, The One Enterprise ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี นางสาวดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด และเรือโท บุญศักดิ์ พลสนะ อดีตนักกีฬาแบดมินตัน ตัวแทนประเทศไทยในการแข่งโอลิมปิก 5 สมัย พร้อมด้วยการร่วมขึ้นเวทีทอล์กเสนอมุมมองชีวิตจากเรื่องราวประสบการณ์จริง สร้างแรงบันดาลใจสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่กล้าตามล่าหาฝัน และรัก(ษ์)ความสวยงามของวัฒนธรรมไทย ร่วมสานพลังขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยให้งดงาม โดยสองสาวงามจากเวทีประกวด Miss Universe Thailand 2022 โดยแอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2022 ร่วมทอล์กในหัวข้อ ใครๆก็ทำได้: Everyone can do! ความคิด ความฝัน ผลักดันให้เกิดความสำเร็จ และนิโคลีน พิชาภา ลิมศนุกาญจน์ รองมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2022 และในฐานะอนุกรรมการด้านการปฏิรูปอุตสาหกรรมบันเทิงเพื่อคุณธรรม วัฒนธรรม และสังคม ร่วมทอล์กในหัวข้อ “ปลูกฝังการรักในสิ่งที่เราเป็น: In my soul วัฒนธรรมไทยประเทศไทย หล่อหลอมตัวตนของฉัน”
นอกจากนี้ ภายในงานแถลงผลการปฏิรูปด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยังเปิดให้ประชาชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมผลงาน และร่วมแสดงพลังขับเคลื่อนประเทศผ่านการแสดงความคิดเห็นเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่ความสมดุลและยั่งยืน ท่านสามารถรับชมการถ่ายทอดการแถลงผลการปฏิรูปด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ย้อนหลังได้ทางช่อง YouTube CRA Chulabhorn Channel ของทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ >> https://youtu.be/0cit7wxkjro