โดย ธนายุส บุญทอง  นิลวรรณ ฟูเฟื่องสิน

ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ผลิตยางอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.0 ของปริมาณการผลิตยางทั้งโลก และเป็นผู้นำการส่งออกยางแปรรูปทุกประเภท โดยเฉพาะน้ำยางข้นและยางแผ่นรมควัน ในปี 2559 มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสูงถึงร้อยละ 75.8 และ ร้อยละ 63.0 ของมูลค่าการส่งออกน้ำยางข้นและยางแผ่นรมควันทั้งหมดของโลก ตามลำดับ

และหากพิจารณาดัชนีความสามารถในการแข่งขันหรือ Revealed Comparative Advantage Index (RCA) ของอุตสาหกรรมยางแปรรูปจากข้อมูลของ International trade center ปี 2559 พบว่า ไทยยังคงมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงกว่าคู่แข่งอย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า ปัจจุบันไทยเองยังไม่สามารถกำหนดราคาส่งออกยางได้ แม้จะเป็นผู้นำการส่งออกยางของโลกก็ตาม เนื่องด้วยผู้ซื้อยางส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ที่มีน้อยราย ทำให้มีอำนาจต่อรองสูง ราคายางจึงถูกกำหนดจากผู้ซื้อผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้าเป็นสำคัญ และพบว่าในระยะที่ผ่านมา ราคายางมีความผันผวนสูง จากความไม่แน่นอนทั้งปัจจัยด้านสภาพอากาศ รวมถึงนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก นอกจากนี้ กลไกกำหนดราคายางก็มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ บ่อยครั้งที่ต้องเผชิญสถานการณ์ราคายางตกต่ำและไม่เป็นไปตามพื้นฐานตลาด

แม้ว่าภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการเสริมสร้างเสถียรภาพราคายางผ่านมาตรการต่างๆ ที่หลากหลายขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มอำนาจต่อรองกับประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการใช้ยางในประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยทรงตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 12 – 13 ของผลผลิตยางทั้งหมด ความหวังในการเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้าจึงยังเป็นไปได้ยาก

นอกจากปัญหาด้านราคาที่ยังไม่สามารถจัดการให้เกิดเสถียรภาพได้ในระยะเวลาอันสั้นแล้ว ปัจจุบันภาพรวมสถานการณ์ยางพาราของไทยยังต้องเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอีก 4 ประการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบด้วย

(1) เกษตรกรหันมาผลิตน้ำยางสดแทนยางแผ่นดิบมากขึ้น เนื่องจากระยะหลังตลาดมีความต้องการน้ำยางข้นเพิ่มขึ้นมากตามการเติบโตของอุตสาหกรรมถุงมือยาง เป็นผลให้ราคาน้ำยางสดเฉลี่ยปรับสูงขึ้นใกล้เคียงราคายางแผ่นดิบ อีกทั้งกระบวนการผลิตน้ำยางสดมีความสะดวกและคล่องตัวมากกว่า จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรขาดกันชน (Buffer) ที่ดี ในการรองรับความเสี่ยงจากราคายางที่ผันผวน เนื่องด้วยน้ำ ยางสดไม่สามารถเก็บสต็อกได้ ทั้งนี้ เกษตรกรต้องเพิ่มทางเลือกในการผลิตให้มากขึ้นโดยภาครัฐอาจส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวเป็นสหกรณ์รวบรวมน้ำยางเพื่อผลิตยางแผ่นดิบในบางช่วงที่ขายได้ราคาสูงกว่าน้ำยางสดมากๆ เป็นต้น

(2) กำลังการผลิตส่วนเกินสูง ในปี 2559 อุตสาหกรรมยางแปรรูปมีการเร่งขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมากขณะที่ปริมาณวัตถุดิบไม่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีกำลังการผลิตสูงกว่าปริมาณวัตถุดิบถึง 3.2 เท่า ขณะที่ปี 2555 กำลังการผลิตสูงกว่าปริมาณวัตถุดิบเพียง 1.2 เท่า ส่งผลให้เกิดการแย่งซื้อวัตถุดิบที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยางแปรรูปของภาครัฐควรพิจารณาถึงกำลังการผลิตเดิมที่มีอยู่แล้วด้วย

(3) กำไรของผู้ประกอบการอยู่ในระดับต่ำในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา กำ ไรสุทธิเฉลี่ยของผู้ประกอบการยางแปรรูปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอดีต เกิดจากการแข่งขันในประเทศที่เพิ่มขึ้น การถูกปฏิเสธรับสินค้าจากคู่ค้าจีนในช่วงที่ราคายางลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการแข่งขันกันโดยการให้ส่วนลดราคาขายน้ำยางข้น และการขยายระยะเวลาชำระเงินของคู่ค้ามาเลเซีย นอกจากนี้ ราคายางที่ผันผวนสูงทำให้ผู้ประกอบการคาดการณ์ทิศทางราคายางได้ยาก การบริหารธุรกิจให้เกิดกำไรจึงยากตามไปด้วย ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางบางรายต้องเลิกกิจการไป อย่างไรก็ดี บางบริษัทอาจปรับตัวผ่านการซื้อขายยางล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยง หาตลาดรองรับที่หลากหลายและคัดกรองคู่ค้ามากขึ้น รวมถึงการรวมตัวกันของผู้ประกอบการยาง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำยางข้น เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้า

(4) เกิดการกระจุกตัวของผู้ผลิตรายใหญ่มากขึ้น จากสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการยางแปรรูปทำกำไรได้ยากขึ้น จนทำให้หลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและกลางต้องปิดตัวลง โดยในปี 2559 จำนวนบริษัทยางแปรรูปลดลงกว่าครึ่งจากปี 2555 ขณะที่กำลังการผลิตโดยรวมไม่ได้ลดลงตาม ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการที่บริษัทขนาดใหญ่เข้าซื้อกิจการยางแปรรูปที่ประสบปัญหา และบางส่วนได้ขยายกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ซึ่งเกิดขึ้นจากการผลิตจำนวนมาก จนทำให้ต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยลดต่ำลง ผ่านการร่วมทุนจากจีน เป็นต้น ทำให้อำนาจต่อรองของผู้ประกอบการสูงขึ้น โดยในประเด็นนี้เปรียบเสมือนเหรียญ 2 ด้าน ด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการอาจใช้อำนาจที่มีเหนือตลาดในการกดดันราคารับซื้อจากเกษตรกร แต่อีกด้านหนึ่งอาจเป็นโอกาสในการเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้าจากต่างประเทศได้

นอกจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางพารายังต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญอีก 2 ประการ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือความท้าทายจาก “สภาพอากาศที่มีความไม่แน่นอน” พบว่าปริมาณน้ำฝนรายเดือน 10 ปีย้อนหลังห่างออกจากค่าเฉลี่ย 30 ปี มากขึ้นเรื่อยๆ และชัดเจนมากในปี 2559 – 2560 ซึ่งเป็นปีที่เผชิญภัยแล้งรุนแรงและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ความไม่แน่นอนของสภาพอากาศทำให้การคาดการณ์ราคาหรือการบริหารจัดการสต็อกไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกรด้านปริมาณผลผลิตที่ลดลง แม้ราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นก็ไม่อาจชดเชยให้รายได้โดยรวมเพิ่มขึ้นได้

และความท้าทายอีกประการหนึ่งจาก “การกีดกันการค้าจากมาตรฐานจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน” โดยปัจจุบัน บริษัทขนาดใหญ่ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่นำเข้าไม้ยางแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากไม้ยาง รวมถึงยางแปรรูปจากไทย ต้องการสินค้าที่มีตราประทับหรือใบรับรอง Forest Stewardship Council (FSC) หรือ Programme for the Endorsement of Forest Certification (PEFC) ว่าเป็นป่าปลูกที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน มากขึ้น และมีความเป็นไปได้ในอนาคตที่บริษัทนำเข้าไม้ยางและยางแปรรูปของจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย อาจจะต้องการการรับรองมาตรฐานดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันหากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือไว้ ในทางกลับกัน หากไทยสามารถปรับตัวให้เป็นไปตามมาตรฐานฯ ได้เร็วก็จะเป็นโอกาสในการสร้างความได้เปรียบในอนาคต ดังนั้น ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความพร้อมสู่การรับรองมาตรฐานดังกล่าว

ที่ผ่านมาเรามุ่งสนใจแต่จะสร้างเสถียรภาพราคายาง จนอาจมองข้ามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องวางแผนพัฒนาและปรับตัวควบคู่กันด้วยในทุกมิติ ทั้งนี้ ในการวางแผนปรับตัวและขับเคลื่อนยางพาราไทยให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ฐานข้อมูลเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ภาครัฐต้องสร้างฐานข้อมูลยางพาราที่ครอบคลุมทั้งระบบ มีความถูกต้องและทันสมัย และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ง่ายและเท่าเทียมกัน”

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here