คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบ 6 โครงการ ช่วยเหลือและแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคา

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ 6โครงการ เพื่อแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ ตามแนวนโยบายดูดซับปริมาณยาง เพิ่มปริมาณการใช้ และลดปริมาณผลผลิต เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาและความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการทำสวนยาง

ช่วยดูดซับปริมาณยาง

1. โครงการชดเชยดอกเบี้ย 3% เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) เพื่อใช้ในการเก็บรวมรวมยาง ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อดูดซับปริมาณยางออกจากระบบประมาณร้อยละ 11 ของผลผลิตยางแห้ง 350,000 ตันจากผลผลิตทั้งปี โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี (ไม่เกิน 600 ล้านบาท) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ถึงเดือนธันวาคม 2562 และมีระยะเวลาการชำระเงินคืนเงินกู้ไม่เกิน 1 ปีนับจากวันทำสัญญาต่อปี

2. โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา (วงเงิน 5,000 ล้านบาท) ซึ่งรัฐบาลเห็นชอบแนวทางปฏิบัติการสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ในอัตราร้อยละ 0.49 ต่อปี โดยยอดประมาณการตลอดระยะเวลาโครงการฯ 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2558-2567) รวมเป็นเงินประมาณการทั้งสิ้น 3,868,000 บาท แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกร 3,564,000 บาท วิสาหกิจชุมชน จำนวน 304,000 บาท

3. โครงการชดเชยดอกเบี้ย 3% เพื่อสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยค่าเบี้ยประกันแก่สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และค่าบริหารโครงการฯ

4. โครงการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบตามกรอบวงเงิน 15,000 ล้านบาท และหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเดิม ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพียงจำนวน 29 ราย และได้รับอนุมัติสินเชื่อเข้าร่วมโครงการฯ 16 ราย วงเงินประมาณ 8.887 พันล้านบาท ปริมาณการใช้ยางเพิ่มขึ้น 35,550 ตัน/ปี ขณะนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอีกหลายราย ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

เพิ่มปริมาณการใช้

5. โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ โดยรัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยให้ กยท. รับซื้อผลผลิตยางพารา ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 น้ำยางสด ยางก้อนถ้วย หรือยางชนิดอื่นๆ ผ่านทางสถาบันเกษตรกร และเครือข่ายตลาด ของ กยท. ทั่วประเทศ เป้าหมาย 200,000 ตัน ในช่วงเดือนธันวาคม 2560 – 30 เมษายน 2561

ลดปริมาณผลผลิต

6. โครงการควบคุมปริมาณผลผลิต โดยมีเป้าในการลดปริมาณผลผลิตจากทั้งภาคเกษตรกร และหน่วยงานรัฐ โดยในส่วนของเกษตรกร ได้กำหนดให้มีแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ด้วยการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้ชาวสวนยางรายละ 4,000 บาท เพื่อโค่นยางและปลูกแทนด้วยไม้ยืนต้นชนิดอื่น เช่น ไม้ผล ไม้เพื่อการแปรรูป และอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จำนวน 2 แสนไร่ ภายในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 นี้ ซึ่งจะเป็นการลดพื้นที่ปลูกยางแบบถาวร

สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีสวนยาง ประมาณ 1 แสนไร่ ทั้ง กยท. กรมวิชาการเกษตร และ ออป. จะร่วมกันหยุดกรีดยาง ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง เพื่อลดปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดได้ไม่น้อยกว่า 6.78 พันตันในระยะเวลา 3 เดือนนี้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here