กยท. เปิดรับสมัครผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อฯ วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพิ่มเติม พร้อมชดเชยดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการฯ มุ่งเน้นให้เกิดการดูดซับปริมาณผลผลิตยางในตลาด พร้อมทั้งกระตุ้นการนำยางในประเทศมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มมูลค่า

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ครม. มีมติเห็นชอบให้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท (เพิ่มเติม) เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ครอบคลุมการใช้จ่ายในส่วนของค่าที่ดินและค่าก่อสร้างอาคารแก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการร้อยละ 3 ตลอดระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2559 – 2564 สำหรับปีที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 29 ราย และได้รับอนุมัติสินเชื่อจำนวน 16 ราย วงเงินประมาณ 8,887 ล้านบาท ซึ่งสามารถดูดซับปริมาณยางในตลาดไปใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางได้ถึง 35,550 ตัน

“โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือประมาณ 6,113 ล้านบาท กยท. จึงเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติม ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2561 โดยใช้หลักเกณฑ์ เงื่อนไขเดิม ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อได้จากธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารสามารถเข้าร่วมโครงการได้”

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยมากกว่า ร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว โดยต้องเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางประเภทต่าง ๆ ทั้งจากน้ำยางข้นและยางแห้ง เน้นการนำผลผลิตยางไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางเพื่อมูลค่ายางให้สูงขึ้น ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยให้การรับรอง เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในด้านวิศกรรม โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับสนับสนุนสินเชื่อ จะต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาง 4 ตันต่อปี/เงินลงทุน 1 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นคำขอพร้อมเอกสารที่ การยางแห่งประเทศไทย ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กรุงเทพฯ ในวันและเวลาราชการ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-940-5712

“โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางฯ เป็นอีกโครงการซึ่งดำเนินการตามนโยบายดูดซับปริมาณยาง ที่เร่งรัดให้มีการเพิ่มปริมาณการแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศ เป็นกลไกที่ช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาและความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการทำสวนยางอีกทางหนึ่ง” รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here