ปัจจุบัน ระบบการสร้างถนนเพื่อเป็นเส้นทางในการขนส่ง มักจะมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นเสมอ อย่างเช่น “การสร้างถนนยางพารา” โดยใช้ยางพาราเป็นส่วนสำคัญในการผสมกับวัตถุอื่นๆ เพื่อประหยัด และทำให้ถนนมีความยืดหยุ่น แข็งแรง ใช้งานได้ทนทานมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว และยังส่งเสริมราคายางพาราในประเทศให้เพื่องฟู มีราคาสูงขึ้น อันเป็นการช่วยให้ชาวสวนยางมีอนาคตที่ดีขึ้นอีกด้วย
ที่จังหวัดเชียงราย มีการปลูกยางพารามาตั้งแต่ปี 2547 ใน 18 อำเภอ ปัจจุบันมีพื้นที่ในการปลูกยางพารา กว่า 3.5 แสนไร่ โดยเป็นสวนที่เปิดกรีดแล้วที่ประมาณ 300,000 ไร่ ให้ผลผลิตปีละไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นตัน ในอนาคตไม่นาน อาจมากกว่า 1 แสนตัน โดยยางพาราบางส่วนส่งขายทางตอนใต้ของประเทศจีน นอกจากนั้นเป็นการใช้ในประเทศ
ที่ผ่านมา อบจ.เชียงราย ร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย สาขาเชียงราย ได้ปรับปรุงถนนลูกรังสายหลังวัดพระธาตุจอมสัก ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยใช้น้ำยางพาราผสมปูนซีเมนต์ในอัตรา 60/40 ให้เป็นถนนซอยซีเมนต์ หรือถนนดินซีเมนต์ หรือถนนยางซีเมนต์ รวมระยะทาง 500 เมตร เป็นถนนนำร่องสายแรกของภาคเหนือ ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่น หวังช่วยเหลือผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่กว่า 2 หมื่นราย
นายเทอดเกียรติ สุกใส ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เปืดเผยว่า แนวคิดการทำ “ถนนยางพารา” นับว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำมาใช้ผสมกับวัสดุอื่นและทดแทนยางแอสฟัลติกส์หรือยางมะตอยได้และมีคุณภาพที่ดีมีความยืดหยุ่นทนทานสูงกว่า โดยมีผลงานการวิจัยจากนักวิชาการของไทยรองรับแล้ว สำหรับ อบจ.เชียงราย มีถนน 235 เส้น รวมระยะทาง 830 ก.ม. และมีถนนเพื่อการเกษตรอีก 1,000 ก.ม. คลุมพื้นที่รับผิดชอบ 1,751 หมู่บ้าน 1254 ตำบล18 อำเภอ เมื่อปี 2555 ได้ทดลองนำน้ำยาพอลิเมอร์ ผสมกับ ซีเมนต์เพื่อซ่อมถนนดินซีเมนต์ ปรากฏว่าได้ผลดี ถนนปลอดฝุ่น ผิวถนนมีความแข็งแรงทนทาน จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2557 พบว่าถนนดังกล่าวได้รับความเสียหายราว 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
จากนโยบายรัฐบาล ผ่านการยางแห่งประเทศไทย ที่สนับสนุนให้ใช้ยางพาราในประเทศ โดยส่วนหนึ่งเป็นการนำมาใช้ทำถนน ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการระบุว่า ข้อดีของการนำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสมในการทำถนน คือ มีความสะดวกในการสร้าง ประหยัด ทนทาน และมีความยืดหยุ่นมากกว่าการใช้ยางมะตอย หรือ แอสฟัลส์ เช่น การสร้างถนน 1 ก.ม. จะใช้น้ำยางพาราเพียง 12,000 ก.ก. หรือ 12 ตัน เมื่อเปรียบเทียบราคากับยางแอสฟัลส์ เป็นตารางเมตร พบว่า มีต้นทุนการใช้ยางพาราเพียง 200-300 บาท ใช้ยางแอสฟัลส์ 350-400 บาท หากเป็นถนนคอนกรีต ประมาณ 750-800 บาท และถนนยางพารา มีอายุการใช้งานนานถึง 10 ปี นับว่าคุ้มค่ามากในการลงทุนและเป็นการช่วยเหลือชาวเกษตรกรยางพาราให้มีโอกาสได้ขายยาง เพิ่มมูลค่าอีกเช่นกัน
“การใช้ยางพารามาทดแทนการใช้ยางแอสฟัลท์ มีข้อดีมากกว่าคือ น้ำยางพาราจะมีความยืดหยุ่นตัวมากกว่ายางแอสฟัลท์ ทำให้ผิวถนน รับน้ำหนักได้มากขึ้นกว่าเดิมถึง 2 เท่าตัว และสามารถทนแรงกระแทกรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้มากขึ้น สามารถย่นระยะเวลาการทำถนนให้สั้นลงได้ คุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ ลดการนำเข้ายางแอสฟัลท์ซึ่งเป็นผลผลิตจากน้ำมันซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศลง ซึ่งราคาค่าก่อสร้างกลับถูกกว่าถนนที่ใช้ยางแอสฟัลท์ ซึ่งขณะนี้เราได้ศึกษามาเป็นระยะเวลานานพอสมควร โดยนำร่องดำเนินการก่อสร้างถนนที่ใช้ยางพาราก่อสร้างสายแรกของ อบจ.เชียงราย เบื้องต้นที่ผ่านมาได้ดำเนินการสร้างถนนยางพาราซอยด์ซีเมนต์ ระยะทาง 500 เมตร เพื่อเป็นต้นแบบ และจะดำเนินการขยายการก่อสร้างเพิ่มเติมในภายหลังต่อไป”
เชียงรายวันนี้ นอกจากจะมีทรัพยากรอื่นๆ ทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรได้ร่วมสร้างขึ้นใหม่ที่เป็นพืชเศรษฐกิจนอกเหนือจากผลไม้ต่างๆตามฤดูกาล ก็คือ “ยางพารา” ซึ่งมีพื้นที่ในการเพาะปลูกมากในอันดับต้นๆ แต่ราคาในปัจจุบันยังคงตกต่ำชาวสวนยางเดือดร้อนทั่วหน้า การริเริ่มโครงการ “ถนนยางพาราต้นแบบท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทย” ของ อบจ.เชียงราย หากทำได้สำเร็จจริงนอกจากการขนส่งในท้องถิ่นจะสะดวกสบาย และได้ถนนที่ดีมีคุณภาพแล้ว ยังจะเป็นการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้แก่ชาวสวนยางโดยแท้
ดูข้อมูลข่าวสารยางและพลาสติกเพิ่มเติมที่ www.rubberplasmedia.com, www.rubbmag.com