ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการยางพาราของสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (The Association of Natural Rubber Producing Countries: ANRPC) ประจำปี 2561 โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จำนวน 13 ประเทศ ประกอบด้วย บังคลาเทศ กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-13 ตุลาคม 2561ณ โรงแรมริเวอร์รี่ จ. เชียงราย ร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาราคายาง เพิ่มมูลค่า พัฒนายางพาราทั้งระบบ

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการยางพาราของสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ ANRPC ประจำปี 2561 มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน ซึ่งหลักใหญ่จะกล่าวถึงปัญหาจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ส่งผลให้ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยางธรรมชาติทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบทั้งต่อตลาดและราคายางที่ต่ำกว่ายางสังเคราะห์ ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยางธรรมชาติทั่วโลก จึงมีความพยายามในการหาวิธีในการแก้ปัญหา ซึ่งประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน รัฐบาลไทยตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยทั้งในแบบระยะสั้นและระยะยาว เช่น มาตรการลดพื้นที่ปลูกที่ไม่เหมาะสม และส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นหรือทำอาชีพการเกษตรอื่นๆทดแทนการปลูกยางพารา รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วยการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เป็นตัวอย่างนำร่อง ในการใช้ยางธรรมชาติไปแปรรูปใช้ประกอบกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ การทำถนนยาง การผลิตหุ่นต้นแบบ CPR ใช้ทางการแพทย์และการทหาร หรือเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพาราทั่วไปให้มากขึ้น เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานยางพารา

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากปัญหาราคายางตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางไม่ว่าในประเทศไทยหรือประเทศผู้ผลิตยางอื่นๆ เกิดความเดือดร้อน ในขณะที่ราคายางธรรมชาติตกต่ำราคายางสังเคราะห์กลับปรับตัวสูงขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์ยางไม่ว่าจะเป็นยางล้อ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้าน ราคาก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของกลไกทางการตลาดและกลไกราคายางในปัจจุบัน ที่ผิดปกติไปจากอดีตที่ผ่านมา

ทุกวันนี้ ราคายางถูกกำหนดด้วยการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า ดังจะเห็นว่า ในช่วงนี้ภาคใต้ฝนตกหนักไม่มีผลผลิตยางแต่ราคายังคงไม่ขยับสูงขึ้น นั่นเพราะเกิดจากปัญหาดังกล่าวจนส่งผลกระทบต่อรายได้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรชาวสวนยางในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย หรือประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆ ประเทศสมาชิกสมาคมผู้ผลิตยางธรรมชาติ ANRPC ที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่ต่ำกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ผลิตอยู่ในประเทศแถบอาเซียน นี่คือโจทย์ที่ กยท. พยายามคิดว่าทำอย่างไรที่ประเทศผู้ผลิตยาง จะสามารถสร้างอำนาจต่อรอง

สิ่งที่อยากจะเสนอต่อสมาชิกประเทศผู้ผลิตยาง ควรมีการจัดตั้งสภายางพาราอาเซียน (Asean rubber Council) โดยไม่ต้องแยกเป็น ANRPC IRRDB หรือ ITRC ต่อไปทุกประเทศต่างต้องอยู่ภายใต้ Asean Rubber Council สภาใหญ่ที่จะเป็นผู้กำหนดแนวทางการพัฒนายางพารา และกำหนดราคายางของตลาดโลกให้ได้เพื่อสร้างพลังอำนาจต่อรอง นอกจากนั้น ประเทศผู้ผลิตยางต้องให้ความสำคัญในเรื่องการแปรรูปเพิ่มมูลค่าของยางดิบที่ทุกประเทศผลิตอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยการพัฒนาเรื่อง Research and Development ให้สามารถนำนวัตกรรมใหม่มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางดิบ และนี่คือทางรอดของประเทศผู้ปลูกยางทั้งหมดในโลกและอาเซียน

ในส่วนของ การยางแห่งประเทศไทย ปีหน้าเป็นต้นไป จะเป็นปีของ “Rubber Innovation Year” โดยร่วมมือกับประเทศในกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ANRPC IRRDB รวมถึง ITRC ให้การสนับสนุนเรื่องของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงเรื่องของการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เกิดความดึงดูดและน่าสนใจ เพื่อให้สามารถเข้าแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งประชากรทั่วโลก มีประมาณ 7-8 พันล้านคน แต่ที่ผ่านมาสามารถผลิตยางธรรมชาติได้เพียง 13 ล้านตัน ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากรแล้ว มีปริมาณน้อยมาก หากสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องใช้ในครัวเรือน และมีการร่วมทุนทำการตลาดที่ดี ทั้งตลาดตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา รวมถึงประเทศจีน ก็จะสามารถเดินหน้าสร้างมูลค่ายางพาราได้ในอนาคตต่อไปได้

ด้าน นาย ตรัน ง็อก ตวน (Mr. Tran Ngoc Thuan) ประธานสมาคม ANRPC กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศผู้ปลูกยาง กำลังเผชิญกับปัญหาราคายาง และปัญหาเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ทำให้การประชุมในครั้งนี้ ANRPC ได้มีการนำประเด็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีเพื่อพัฒนาในอุตสาหกรรมยางพาราของแต่ละประเทศสมาชิกเจรจาหารือ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเกิดการผลักดันและเกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกได้ ก็ต่อเมื่อทุกประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางธรรมชาติ ให้ความร่วมมือกัน นอกจากนี้ หากกล่าวถึง ทิศทางราคายางในปีหน้า คาดว่า จะปรับตัวสูงขึ้น เพราะประเทศสมาชิกมีการหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา ในขณะที่ประเทศเวียดนาม มีนโยบายจะไม่ขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น แต่จะมีการปรับปรุงกิจกรรมที่เกี่ยวกับยางพาราที่มีอยู่ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และในอนาคตรัฐบาลเวียดนามจะให้การสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยให้ทำอาชีพสวนยางได้อย่างยั่งยืน “สำหรับปีหน้าจะเป็นโอกาสดีที่ ประเทศไทยจะเป็นประธานสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ จะส่งผลดีต่อสถานการณ์ราคายางพารา และประโยชน์ต่อประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติเช่นกัน”

ขณะที่ ดร. เหงียน ง็อก บิช (Dr. Nguyen Ngoc Bich) เลขาธิการสมาคม ANRPC กล่าวว่า การประชุมร่วมกันของประเทศสมาชิก ANRPC ประจำปีนี้ มุ่งเน้นในการแสวงหา Mega Trends ที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก เป็นที่รู้กันดีว่าเกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบจากปัญหาราคายางที่ตกต่ำ ในขณะเดียวกันทำให้แนวโน้มภาคการผลิตต้องปรับตัวสู่ความยั่งยืน โดยในปีนี้ได้ต้อนรับประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเข้าสู่การเป็นสมาชิกใหม่ของสมาคม ANRPC ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของการร่วมมือกันของกลุ่มประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางธรรมชาติ โดยจะสามารถเชื่อมโยงในเรื่องของการตลาด กระบวนการผลิต และความร่วมมือทางเทคนิค ซึ่งจะสอดรับต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here