เมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายข้อมูลเเละวิจัยตลาดฯ สถาบันพลาสติก ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จัดงานสัมมนา “อนาคตผลิตภัณฑ์ยางไทย : โอกาสวิ่งหรือโอกาสนิ่ง?” ณ โรงเเรม อโนมา ราชประสงค์ โดยได้รับเกียรติจาก นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาครั้งนี้ โดยมีวิทยากรในวงการยาง อาทิ ดร.กฤษดา สุชีวะ จากมหาวิทยาลัยมหิดล มาส่องเส้นทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง พร้อมด้วย นายศุภฤกษ์ สุดยอดประเสริฐ จากกรมการขนส่งทางราง มาพูดถึง แผนพัฒนาระบบรางไทย ตลาดใหม่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยางพารา ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยงาน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวในการสัมมนาอนาคตผลิตภัณฑ์ยางไทย”โอกาสวิ่งหรือโอกาสนิ่ง”ว่า อุตสาหกรรมยางของไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญอันดับ Top 10 ของประเทศ เพราะไทยมีศักยภาพในเรื่องของวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหามากในเรื่องวัตถุดิบสำหรับภาคเกษตร เพราะหากอุตสาหกรรมผลิตออกมามากแปลว่าขายดีและรวย แต่ภาคเกษตรถ้าผลิตออกมามากก็จะส่งผลต่อราคา ซึ่งปัญหาของภาคเกษตรไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทำให้ต้องดูแลสินค้าเกษตรในพืชแต่ละชนิดไปตามสถานการณ์
สำหรับอุตสาหกรรมยางจะ “วิ่งหรือจะนิ่ง”ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งประกอบด้วย 1. Productivity ต้นทุนต้องน้อยกว่าคู่แข่ง ทั้งต้นทุนการเพาะปลูก ต้นทุนแรงงาน 2. Quality คุณภาพสินค้า ซึ่งมาตรฐานสินค้าจะเป็นตัวการันตีให้ผู้บริโภคตัดสินใจเร็วขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคต้องการใช้เงินให้คุ้มค่า 3. Marketing ถ้าสินค้าดีแต่การตลาดไม่ดีก็อาจไปไม่รอด ยกตัวอย่างจีนที่ไม่เก่งเรื่องผลิตแต่เก่งการค้า และไม่คิดจะเก่งด้านการผลิตเพราะเหนื่อย ขณะที่ค้าขายได้กำไรมากกว่าเยอะ
“เรื่องพวกนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่เราต้องมี และที่มีจะต้องมีต่อไปคือเทคโนโลยี นวัตกรรมเพราะสินค้าทุกอย่างถ้าไม่ปรับเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สินค้าจะเป็นตัวเดิมตลอด ซึ่งไม่มีสินค้าใดที่จะเป็นอมตะอยู่ในตลาดได้ตลอดกาล ในทุกสินค้าถ้าใส่เทคโนโลยีเข้าไปจะไม่มีทางตัน ขณะเดียวกันก็อาจจะใส่ใจเรื่องของรสนิยมหรือความพึงพอใจของผู้บริโภคเข้าไปด้วยจะไม่มีทางตัน”นายอิทธิชัย กล่าว
นายอิทธิชัย ยังกล่าวว่า ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางของไทย ด้านการส่งออก คือ 1. ความได้เปรียบทางราคาซึ่งเกิดจากค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยน สิทธิประโยชน์ทางการค้า 2.สินค้าเป็นสินค้าที่อยู่ในกระแสตลาดหรือไม่ หรือสินค้าที่ผลิตมามีคนต้องการหรือไม่ ซึ่งมองว่าอุตสาหกรรมยางของไทยมีศักยภาพสูงมาก ไม่น่ามีปัญหาที่จะก้าวไปในอนาคต เพราะเรามีความได้เปรียบในเรื่องอัตลักษณ์เฉพาะตัว และมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในหลายๆสินค้า เช่น ยางล้อ ที่ปัจจุบันเส้นละเป็นหมื่น มี Functional สมรรถนะก็ดีขึ้น
ส่วน ดร.กฤษฎา สุชีวะ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความท้าทายของอุตสาหกรรมยางในประเทศไทย คือ การแข่งขันด้านคุณภาพและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าแปรรูปจากยาง นอกเหนือจากการแข่งขันเพียงแค่ในด้านปริมาณการผลิตยางในตลาดสากล ซึ่งการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตยาง จะทำให้ประเทศไทยพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในด้านคุณภาพของสินค้าแปรรูปจากยางในตลาดสากลได้ในไม่ช้า
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง มองว่าการจะคิดผลิตสินค้าใหม่ที่จะใช้ยางธรรมชาติในปริมาณมากๆ คงจะไม่มี แต่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมเพื่อขยายตลาด หรือวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นโอกาสสำหรับยุคใหม่, การเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ, การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตผลิตภัณฑ์ ใช้เทคโนโลยีในการออกแบบ เพิ่มผลิตภาพการผลิต ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือการมองหาผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้คุณสมบัติของยางจริงๆ และไม่มีวัสดุอื่นทดแทนได้ คือ เรื่องของความยืดหยุ่น แข็งแรง ทนทาน เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย หรือความสามารถในการระบายพลังงาน ลดการสั่นสะเทือน เช่น ใช้ในการสร้างคอสะพาน ยางล้อรถ ยางล้อเครื่องบิน
นอกจากนี้ ยังต้องมองหาความต้องการเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งไม่ต้องการชิ้นส่วนยางทนน้ำมันแต่ต้องการชิ้นส่วนยางนำไฟฟ้า ชิ้นส่วนยางที่จะทำให้รถเงียบขึ้น ลดเสียง หรือยางล้อประหยัดพลังงาน, มองหาความต้องการของประเทศ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ยางเป็นวัสดุในการสร้างระบบชลประทาน เก็บกักน้ำยามฤดูแล้ง ผลิตแบริเออร์ป้องกันน้ำท่วมแทนกระสอบทราย หรือการผลิตภัณฑ์ยางในการพัฒนาระบบราง
ด้าน นายศุภฤกษ์ สุดยอดประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐาน และหัวหน้ากลุ่มมาตรฐานระบบการเดินรถและสิ่งอำนวยความสะดวก กองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและสามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนารถไฟความเร็วสูง ปรับปรุงระบบรถไฟขนาดราง 1 เมตรให้เป็นระบบไฟฟ้า บูรณาการการพัฒนาระบบขนส่งกับการพัฒนาพื้นที่และเมือง
ประกอบกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาการคมนาคมระบบรางเป็นระบบทางคู่ เพิ่มการขนส่งระบบรางขึ้น 30% ภายใน 3 ปี, ศึกษา วิจัย การใช้ประโยชน์จากรางที่มีอยู่ปัจจุบันและอนาคตให้สามารถใช้ให้เกิดผลตอบแทน และ การใช้วัสดุที่ผลิตจากยางพาราทดแทนวัสดุเดิม ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Thai First: ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” โดยจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาตามกฎหมายและระเบียบของไทย ใช้วัสดุภายในประเทศให้มากที่สุด
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภายในปี 2572 รวมทั้งหมด 557.56 กม. จำนวน 386 สถานี และ 56 สถานีเชื่อมต่อ ขณะที่การพัฒนารถไฟทางคู่และทางสายใหม่ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปี 2558-2565 ได้แก่ โครงการทางคู่ระยะที่ 1 ระยะทาง 993 กม.จะก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี 2565, โครงการทางคู่ระยะที่ 2 ระยะทาง 1,479 กม.จะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2567 และโครงการทางสายใหม่ 678 กม.จะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2569 คาดว่าจะมีการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในระบบขนส่งทางรางที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนสำคัญในการผลิต เช่น แผ่นรองราง ฉนวนกั้นเครื่องยึดเหนี่ยว แผ่นยางรองใต้หมอน แผ่นยางรองใต้หินโรยทาง แผ่นยางรองใต้แผ่นพื้นคอนกรีต แผ่นปูทางผ่านชนิดยาง ยางรองแผ่นปูทางผ่าน แผ่นยางครอบหมอนคอนกรีต อัดแรง ฯลฯ
“จะเห็นได้ว่าตามแผนพัฒนาระบบรางข้างต้น ยังมีความต้องการใช้ยางพาราในอนาคตอีกจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมยางไทยในอนาคต ซึ่งบางอย่างผลิตได้ในประเทศ แต่บางอย่างยังต้องอาศัยการนำเข้าเพราะเป็นเรื่องของคุณภาพที่ต้องได้มาตรฐานและต้องมีการทดสอบก่อนใช้งานจริง”นายศุภฤกษ์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.สินินาฎ เล้าชินทอง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารงานกลาง รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า สถาบันพลาสติกได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารามาต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งสถาบันมุ่งมั่นปรับปรุงและพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมและผู้ใช้งานสูงสุด ทั้งด้านสถิติข้อมูลสำคัญ ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมของผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา เพื่อการเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของประเทศไทย หวังว่า งานสัมมนครั้งนี้ จะชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ยางทั้งไทยและสากล ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องสะท้อนความต้องการผลิตภัณฑ์ยางในอนาคตทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมยางของผู้ประกอบการไทย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here