ในปีงบประมาณ ..2563 ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้ดำเนินการกำจัดวัชพืชในลุ่มน้ำภาคกลางรวมกว่า 416,000 ตัน สำหรับแผนการกำจัดวัชพืชและผักตบชวา ในปีงบประมาณ .. 2564 กรมชลประทานได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยกำหนดแนวทางในการกำจัดวัชพืชทางน้ำชลประทานไว้ โดยให้ดำเนินการกำจัดวัชพืชในทางน้ำชลประทานและทางน้ำสายหลักที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่ แม่น้ำท่าจีนเหนือเขื่อนเจ้าพระยา รวมทั้งแม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง โดยให้บูรณาการร่วมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาผักตบชวาระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชอื่นๆ บริเวณประตูระบายน้ำหรืออาคารชลประทานต่างๆ โดยให้สำนักเครื่องจักรกลสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ และจัดให้มีรอบเวรในการกำจัดวัชพืชด้วยเรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก ทำการปิดป้ายผู้รับผิดชอบการกำจัดวัชพืชไว้บริเวณอาคารชลประทาน ทางน้ำชลประทานที่มีความเสี่ยงต่อการสะสมของวัชพืช เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยแจ้งข้อมูลหากพบเห็นวัชพืชดังกล่าว

ในส่วนของอาคารชลประทานที่มีทางน้ำเชื่อมกับทางน้ำสายหลัก ซึ่งอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นขอให้บูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และให้ดำเนินการตามแผน เพื่อให้การปฏิบัติงานประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้านสำนักเครื่องจักรกลได้สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ ในการกำจัดผักตบชวาทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น รถขุดตีนตะขาบ แบบแขนยาว เรือขุดแบบปูตัก และเรือกำจัดวัชพืช ซึ่งจะสามารถกำจัดวัชพืชได้ประมาณ 55,645 ตันต่อวัน

เร่งกำจัดวัชพืชหน้าเขื่อนเจ้าพระยา

ล่าสุด นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้มอบหมายให้ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ส่งเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรของฝ่ายเครื่องจักรกลเรือขุดและเรือกำจัดวัชพืชที่ 5 สำนักเครื่องจักรกล เข้าเปิดทางน้ำ โดยใช้เครื่องจักรกลประเภท รถขุดไฮดรอลิค แบบลงโป๊ะ จำนวน 1 ชุด เข้ากำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน เหนือประตูระบายน้ำท่าโบสถ์ ในเขตพื้นที่ ตำบลสามง่ามท่าโบสถ์ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่งมีวัชพืชไหลเข้ามาสะสมหนาแน่น ทำให้น้ำเกิดการเน่าเสีย และสร้างความลำบากแก่ประชาชน มีวัชพืชสะสมประมาณ 15,000 ตัน ซึ่งได้กำจัดวัชพืชไปแล้วประมาณ 10,600 ตัน คาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายในเดือนเมษายน

นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ชัยนาท ในฐานะที่ดูแลพื้นที่ เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องวัชพืช ถือเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นปัญหาในระดับประเทศในขณะนี้ ซึ่งในคณะทำงานใหญ่ ได้มีการบูรณาการหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการแบ่งงานกันรับผิดชอบ ในส่วนของกรมชลประทานในเขตพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสายหลัก เส้นเลือดใหญ่ ทางกรมชลประทาน ในพื้นที่หลัก อย่าง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้ำท่าจีน แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำนครนายก เรามีการแบ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบไว้หมดแล้ว มีทั้งกรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และ กรมโยธา ส่วนที่จะกล่าวถึงในวันนี้ก็คือเส้นเลือดใหญ่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ในส่วนของกรมชลประทาน จะดูแลตรงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 2 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม แม่น้ำสายหลักที่วิ่งลงมาจากทางเหนือ น้ำก็ต้องไหลลงมาหาเขื่อนเจ้าพระยา เพราะฉะนั้นการที่น้ำไหลมา ก็จะพัดพาเอาวัดวัชพืชต่างๆมาด้วย ไม่ใช่มาเฉพาะในช่วงน้ำหลาก แม้ในช่วงน้ำแล้ง วัชพืชก็เกิดขึ้นตลอดเวลา จะเห็นว่าในขณะนี้ ในช่วงฤดูแล้ง น้ำในเขื่อนเจ้าพระยาก็ต่ำน้ำที่มา ก็ไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีวัชพืชที่เยอะอยู่

ดังนั้นในภารกิจของกรมชลประทานโดยสำนักเครื่องจักรกล ก็ได้ส่งเครื่องจักรเครื่องมือมาประจำที่อยู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาโดยมีการเก็บอย่างต่อเนื่องอย่างตลอดเวลา ตั้งแต่ในช่วงต้นปีนี้ ในเดือนมกราคมกุมภาพันธ์ มีการเก็บอย่างต่อเนื่องครั้งหนึ่งแล้ว วัชพืชก็ยังมีมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะนี้ ที่ได้สำรวจแล้วเหนือขึ้นไปประมาณสามถึงสี่กิโลเมตร ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 5,000 ตัน โดยในแต่ละปีจะมีประมาณหลายหมื่นตัน มันก็จะมีมาเป็นระลอกๆ พอวัชพืชไหลลงมา เราก็จะมาไล่เก็บอย่างต่อเนื่อง ในช่วงฤดูแล้งอาจจะนิ่งหน่อย เพราะกระแสน้ำไม่แรง แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก วัชพืชก็จะมาอย่างมากมายต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ชัยนาท กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้กรมชลประทานได้กำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน โดยขอให้เกษตรกร ใช้น้ำฝนในการเพาะปลูกข้าวนาปีเป็นหลักซึ่งกรมชลประทานจะกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้รองรับในช่วงฤดูแล้งต่อไป

ด้าน นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล เปิดเผยว่า วัชพืชที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีมาโดยตลอด ในช่วงฤดูแล้ง อาจจะมีไม่มากนัก แต่พอเริ่มฤดูฝนจะมีมาเป็นจำนวนมากโดยเฉลี่ยต่อเดือนมีประมาณ 5,000 – 6,000 ตัน ซึ่งเรามีการเก็บทั้งปี ในส่วนของสำนักเครื่องจักรกล ได้ทำการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่กรมชลประทานที่ 12 หัวหน้าโครงการชลประทานชัยนาท และปักหลักเก็บบริเวณจุดต่างๆ ดูแล้วมีประมาณ 4-5พันตัน รวมถึงปักหลักเก็บวัชพืชตรงบริเวณหน้าเขื่อน ซึ่งมีการจัดเก็บทั้งปี

เมื่อเราเก็บวัชพืชจำนวนมากมายขนาดนี้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องมีเครื่องจักร และเรือนวัตกรรมตัวเล็กเพื่อเก็บย่อย ไม่ให้มันเพิ่มปริมาณที่เร็วขึ้น จึงมีการเก็บทุกวันในบริเวณคลองเล็ก คลองใหญ่ และคลองซอย แต่ถ้าเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่อย่างเจ้าพระยา เราจะใช้เรืออีกตัวเป็นตัวดัน เพื่อมาให้รถแม็คโครตักขึ้นตลิ่ง ซึ่งทำอย่างนี้ทั้งปี

ทั้งนี้ คลองชลประทานที่อยู่ในสำนักชลประทานเขต 12 จะมีอยู่ประมาณ 3,000 กว่ากิโล ซึ่งทางสำนักเครื่องจักรกล โดยส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 5 จะรับผิดชอบ 3 สำนักชลประทานในเขตภาคกลาง คือสำนักที่  9, 10 และ 12 เพราะฉะนั้นอีกประมาณ 6,000 – 7,000 กิโล เราก็ต้องเก็บให้หมด แต่ทั้งนี้ ทางสำนักเครื่องจักรกล มีเครื่องจักรที่ตักอยู่ประมาณ 26 ชุดเท่านั้น ซึ่งต้องดูแลพื้นที่ทั้งหมด กับคลองเกือบ10,000 กิโล เฉพาะเขตพื้นที่ภาคกลางเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่มีทางเก็บได้ทัน

ดังนั้น ทางสำนักเครื่องจักรกลและสำนักชลประทานเขต 12 เราได้วางแผนกันที่จะต้องเก็บใหญ่เป็นจุดๆเมื่อวัชพืชมา และจะนำเอาเรือนวัตกรรมที่มีอยู่จำนวนไม่มากทั่วประเทศ มีอยู่ประมาณ 172 ลำที่ได้ทำในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมันได้เกิดประโยชน์อย่างมากในการเก็บเล็กเก็บย่อยของวัชพืช ทั้งนี้ ถ้าเราต้องให้วัชพืชมันหมดไปจากลุ่มน้ำภาคกลาง เราอาจจะต้องใช้เครื่องจักรอย่างมากมาย แต่ในช่วงที่ผ่านมาเราได้มีการบริหารจัดการโดยการบูรณาการหน่วยงานในกรมชลฯ ที่จะทำให้วิกฤตมันเกิดปัญหาน้อยที่สุด หรือให้ผักตบมันเกิดปัญหาน้อยที่สุดกับพี่น้องเกษตรกรและพี่น้องประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือริมฝั่งแม่น้ำอื่นๆที่ทางกรมชลประทานรับผิดชอบ เราต้องการแค่บรรเทาเบาบางให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด แต่ทุกวันทุกคืน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมชลประทานทำงานกันอย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งนี้ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนกับวัชพืชหรือสิ่ง กีดขวางทางน้ำ นี่คือสิ่งที่จะต้องอธิบายให้เข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ทางกรมชลประทานโดยผู้บริหารท่านประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน มีความตั้งใจที่จะให้ปัญหาเหล่านี้หมดไปจากลุ่มแม่น้ำภาคกลางให้ได้แต่ทั้งนี้ เราก็ต้องใช้ปัจจัยที่กล่าวข้างต้นอย่างสมดุลและคุ้มค่าที่สุด

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here