การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดงาน Talk About Rubber ครั้งที่ 7 ห้องราชไมตรี กยท. สำนักงานใหญ่ มุ่งสื่อสารนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินของ กยท. นำโดย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. พร้อมผู้บริหาร กยท. แจงประเด็นการขอโค่นและปลูกแทนด้วยทุนตนเองก่อนได้รับอนุมัติ การให้เงินอุดหนุนเพื่อปรับปรุงอุปกรณ์และเครื่องจักรให้สถาบันเกษตรกรฯ และอัพเดทความคืบหน้าการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้ฯ ระยะที่ 4 โดย

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กยท. พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา ไตรมาสที่ 2/66 จากฝ่ายเศรษฐกิจยาง โดยนางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง นายสุขทัศน์ กล่าวในประเด็น การขอโค่นและปลูกแทนด้วยทุนตนเองก่อนได้รับอนุมัติ ว่า กยท. จัดสรรเงินตามมาตรา 49 (2) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องการโค่นต้นยางพาราที่มีอายุยางมากกว่า 25 ปีขึ้นไป หรือต้นยางพาราที่ทรุดโทรมเสียหายเนื่องจากถูกไฟไหม้ โดนวาตภัย ประสบภัยแล้ง และต้นยางที่เปลือกกรีดเสียหายเกินร้อยละ 70 โดยที่ผ่านมา มีชาวสวนยางยื่นขอรับการปลูกแทนพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เพราะรอบการปลูกยางใกล้เคียงกัน กยท. จึงมีแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว โดยปรับระเบียบให้ชาวสวนยางสามารถโค่นต้นยางและปลูกแทนด้วยทุนตนเองก่อนได้รับการอนุมัติ แต่ต้องได้รับการอนุญาตจาก ผอ.กยท.จังหวัด/ผอ.กยท.สาขา ก่อน ห้ามโค่นต้นยางก่อนได้รับอนุญาต และเมื่อผ่านการอนุมัติ เกษตรกรจะได้รับทุนปกติในอัตราไร่ละ 16,000 บาท ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ระหว่างรอการอนุมัติ ทั้งนี้ กยท.กำหนดสัดส่วนของสวนที่ขออนุญาตโค่นต้นยางและปลูกแทนด้วยทุนตนเองกับสวนปลูกแทนปกติ เพื่อไม่ให้กระทบกับเป้าหมายการปลูกแทนในปีงบประมาณถัดไป

นายสุขทัศน์ เพิ่มเติมว่า กยท. ได้ให้เงินอุดสนับสนุนสถาบันเกษตรกรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพอุปกรณ์และเครื่องจักรในการเพิ่มกำลังการผลิตและต่อยอดผลผลิตแปรรูปจากยางพารา รวมถึงผ้าเคลือบน้ำยางสำหรับปูสระเป็นเงินกว่า 28.8 ล้านบาท ให้แก่ชุมนุมอุตสาหกรรมยางพาราภาคใต้ จำกัด โดยสระน้ำที่ปูพื้นด้วยผ้าเคลือบน้ำยางสามารถใช้กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งการนำน้ำยางข้นมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผ้าปูสระจะช่วยให้เกิดการใช้ยาง โดยการปูพื้นสระชั้นเดียวใช้น้ำยางข้น 0.69 กก./ตร.. และการปูสระสองชั้นใช้น้ำยางข้น2.43 กก./ตร.. ซึ่งสามารถยืดอายุการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ กระตุ้นให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ความคืบหน้าการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 4  กยท. สั่งจ่ายเงินประกันรายได้ (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 9 พฤษภาคม 2566) เป็นเงินกว่า 1.57 พันล้านบาท ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง กว่า 4 แสนราย รวมเป็นพื้นที่สวนยางเกือบ 10 ล้านไร่ ซึ่ง กยท. กำหนดแผนสั่งจ่ายเงินให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทุกรายที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและได้สิทธิร่วมโครงการฯ ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม นี้นายสุขทัศน์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง ได้วิเคราะห์สถานการณ์ยาง ว่า ไตรมาสที่ 1/2566 ผลผลิตยางโลกอยู่ที่ 3.312 ล้านตัน ด้านการใช้ยางพาราโลกอยู่ที่ 3.73 ล้านตัน เห็นได้ว่าโลกยังคงมีความต้องการใช้ยาง สำหรับผลผลิตยางของไทยคาดว่าหลังเปิดกรีดยางจะค่อยๆเพิ่มขึ้น จนถึงธันวาคม จะอยู่ที่ 4.9 แสนตัน โดยไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้ยางเติบโตสูงสุด เนื่องจากการลงทุนในอุตสาหกรรมไทยจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ด้านการส่งออกยางพารา คาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกยางไทยที่ 4.275 ล้านตัน โดยมกราคมและกุมภาพันธ์ 2566 ไทยส่งออกยางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำเข้ายางจากไทยสูงสุดยังคงเป็นจีน คิดเป็น 55% ตามด้วย มาเลเซีย 13% และสหรัฐอเมริกา 4% ที่น่าสนใจคือเกาหลีใต้นำเข้ายางจากไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่วนประเทศผู้ผลิตยางอย่าง มาเลเซียและอินโดนีเซียส่งออกยางลดลงตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากรัฐบาลไม่สนับสนุนราคายาง และเกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่ราคาสูงกว่า แม้ว่าเวียดนามส่งออกยางสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังน้อยกว่าประเทศไทยกว่าเท่าตัว

ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กล่าวถึงการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า ยอดประกอบรถยนต์โลก ปี2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการผ่อนคลายห่วงโซ่การผลิต และการเร่งซื้อรถในจีนก่อนสิ้นสุดระยะโครงการช่วยเหลือด้านภาษี เป็นปัจจัยบวกต่อราคายาง ขณะที่การผลิตยางล้อโลก ปี2565 มีหลายประเทศที่เพิ่มกำลังการผลิต ได้แก่ อินเดีย (13.9%) เกาหลี (9.5%) จีน (0.8%)

แนวโน้มราคายางมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ยางของโลกที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ยอดขายรถยนต์ และการผลิตล้อยาง ซึ่งสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา (USTMA) คาดการณ์ว่าในปี 2566 ยอดจัดส่งรถยนต์ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตยางทั่วโลกยังคงเติบโตน้อย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลผลิตคือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้ปริมาณฝนน้อยกว่าทุกปี อากาศแล้ง แม้เริ่มมีฝนตกในบางพื้นที่ แต่อากาศร้อนยังทำให้หลายพื้นที่ไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ ปัจจัยดังกล่าวเป็นผลดีต่อราคายางในอนาคต นางสาวอธิวีณ์ กล่าวปิดท้าย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here