ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วย ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ดกยท. นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ และคณะผู้บริหารกยท. ลงพื้นที่ จ.ตรัง เยี่ยมชมกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า ของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด พร้อมมอบเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ มาตรา 49(3) แก่สถาบันเกษตรกรฯ กว่า 3.5 ล้านบาท และเงินสวัสดิการเกษตรกรฯ มาตรา 49(5) แก่ทายาทชาวสวนยางที่เสียชีวิต รายละ 30,000 บาท ชู นโยบายนวัตกรรมแปรรูปยาง สร้างมูลค่า – รายได้เพิ่ม ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนยางอย่างยั่งยืน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. ขับเคลื่อนการบริหารยางพาราทั้งระบบภายใต้การนำของ รมว. เกษตรฯ ที่วางนโยบายแก้ปัญหายางพาราอย่างจริงจัง โดยดำเนินมาตรการคู่ขนาน เพื่อลดผลกระทบด้านราคายางพาราที่เกษตรกรได้รับ ส่งผลให้ปัจจุบันราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัมสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก และยังคงเดินหน้ามาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันราคายางให้สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีความเข้มแข็งและมีรายได้ที่มั่นคง โดยการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องและอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาลและ รมว. เกษตรฯ คือ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน”
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่จังหวัดตรังมีสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางกว่า 50 สถาบันที่ กยท. ให้การดูแลและสนับสนุนผ่านการจัดสรรเงินอุดหนุนและเงินกู้ยืมจากกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 49(3) โดยมุ่งส่งเสริมปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การผลิต แปรรูป และการตลาด เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่ กยท. ให้การส่งเสริมและสนับสนุน โดยสถาบันฯ ดำเนินกิจการแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควันและผลิตภัณฑ์ยางพารา ภายใต้แบรนด์ “Nongkrok” ทั้งหมอน ที่นอนยางพารา เสาหลักนำทาง และยังได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมหมวกนิรภัยจากยางพารา ในการประกวดนวัตกรรมด้านยางพารา ประจำปี 2566 ระดับภูมิปัญญา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจดสิทธิบัตร และขอมาตรฐาน มอก. ซึ่งหมวกนิรภัยยางพารานี้ ได้รับความสนใจจากกลุ่มบริษัทชั้นนำในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน มีออเดอร์สั่งผลิตจำนวนหลายแสนใบ
“กยท. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการบริหารจัดการยางพาราให้ครอบคลุมทุกมิติ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปยางพารา เพื่อขยายโอกาสด้านการแข่งขัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับยางพาราทั้งระบบ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรตามแนวคิด ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ อย่างยั่งยืนต่อไป” นายณกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ รมว. เกษตรฯ ยังได้พบปะเกษตรกรชาวสวนยางและผู้นำท้องถิ่น พร้อมรับฟังความคิดเห็นและความต้องการด้านการเกษตรในพื้นที่ จ.ตรัง และมอบเงินจัดสรรจากกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 49(3) แก่ตัวแทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง จำนวน 6 สถาบัน เพื่อนำไปใช้ในการจัดหาและปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและแปรรูปยาง เป็นเงินรวมกว่า 3.5 ล้านบาท พร้อมทั้งมอบเงินสวัสดิการตามมาตรา 49(5) แก่ทายาทเกษตรกรชาวสวนยางที่เสียชีวิต จำนวน 4 ราย รายละ 30,000 บาท