ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วย  ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ดกยท. นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ และคณะผู้บริหารกยท. ลงพื้นที่ .ตรัง เยี่ยมชมกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า ของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด พร้อมมอบเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ มาตรา 49(3) แก่สถาบันเกษตรกรฯ กว่า 3.5 ล้านบาท และเงินสวัสดิการเกษตรกรฯ มาตรา 49(5) แก่ทายาทชาวสวนยางที่เสียชีวิต รายละ 30,000 บาท ชู นโยบายนวัตกรรมแปรรูปยาง สร้างมูลค่า รายได้เพิ่ม ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนยางอย่างยั่งยืน

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. ขับเคลื่อนการบริหารยางพาราทั้งระบบภายใต้การนำของ รมว. เกษตรฯ ที่วางนโยบายแก้ปัญหายางพาราอย่างจริงจัง โดยดำเนินมาตรการคู่ขนาน เพื่อลดผลกระทบด้านราคายางพาราที่เกษตรกรได้รับ ส่งผลให้ปัจจุบันราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัมสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก และยังคงเดินหน้ามาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันราคายางให้สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีความเข้มแข็งและมีรายได้ที่มั่นคง โดยการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องและอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาลและ รมว. เกษตรฯ  คือ เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่จังหวัดตรังมีสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางกว่า 50 สถาบันที่ กยท. ให้การดูแลและสนับสนุนผ่านการจัดสรรเงินอุดหนุนและเงินกู้ยืมจากกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 49(3) โดยมุ่งส่งเสริมปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การผลิต แปรรูป และการตลาด เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่ กยท. ให้การส่งเสริมและสนับสนุน โดยสถาบันฯ ดำเนินกิจการแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควันและผลิตภัณฑ์ยางพารา ภายใต้แบรนด์ “Nongkrok” ทั้งหมอน ที่นอนยางพารา เสาหลักนำทาง และยังได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมหมวกนิรภัยจากยางพารา ในการประกวดนวัตกรรมด้านยางพารา ประจำปี 2566 ระดับภูมิปัญญา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจดสิทธิบัตร และขอมาตรฐาน มอก. ซึ่งหมวกนิรภัยยางพารานี้ ได้รับความสนใจจากกลุ่มบริษัทชั้นนำในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน มีออเดอร์สั่งผลิตจำนวนหลายแสนใบ

กยท. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการบริหารจัดการยางพาราให้ครอบคลุมทุกมิติ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปยางพารา เพื่อขยายโอกาสด้านการแข่งขัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับยางพาราทั้งระบบ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรตามแนวคิด ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ อย่างยั่งยืนต่อไป นายณกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ รมว. เกษตรฯ ยังได้พบปะเกษตรกรชาวสวนยางและผู้นำท้องถิ่น พร้อมรับฟังความคิดเห็นและความต้องการด้านการเกษตรในพื้นที่ .ตรัง และมอบเงินจัดสรรจากกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 49(3) แก่ตัวแทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง จำนวน 6 สถาบัน เพื่อนำไปใช้ในการจัดหาและปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและแปรรูปยาง เป็นเงินรวมกว่า 3.5 ล้านบาท พร้อมทั้งมอบเงินสวัสดิการตามมาตรา 49(5) แก่ทายาทเกษตรกรชาวสวนยางที่เสียชีวิต จำนวน 4 ราย รายละ 30,000 บาท

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here