กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เปิดตัวกลไกการสนับสนุนด้านเงินรูปแบบใหม่สำหรับผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากความร่วมมือของแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพไทยในระยะเริ่มต้นและระยะเติบโตให้สามารถพัฒนาต้นแบบและขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีงบอุดหนุนจากภาครัฐและเอกชนรวมกว่า 200 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างให้เกิดมูลค่าของธุรกิจนวัตกรรมกว่า 1,000 ล้านบาท รวมถึงการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม”
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า“กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม และเชื่อมั่นว่าการที่นวัตกรรมจะเดินหน้าอย่างก้าวกระโดดนั้นต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคเอกชนโดยมีภาครัฐเป็นกองหนุนที่สำคัญ จึงนับเป็นโอกาสดีที่ได้เห็นความร่วมมือของ NIA และสํานักงานปลัดกระทรวง อว. (สป.อว.) โดย TED Fund ในการพัฒนากลไกการเงินรูปแบบใหม่ นั่นคือ “กลไกการสนับสนุนเงินทุนอุดหนุนสมทบสำหรับผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากความร่วมมือของแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน” ซึ่งเป็นกลไกการเงินแห่งแรกที่เชื่อมต่อแหล่งเงินทุนของภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งธุรกิจนวัตกรรมไทยให้สามารถขยายผลเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีงบทุนอุดหนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกว่า 200 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างให้เกิดมูลค่าของธุรกิจนวัตกรรมกว่า 1,000 ล้านบาท ผ่าน 3 แนวทางได้แก่ 1) เร่งการเติบโตในการลงทุนทางนวัตกรรมเชื่อมกับการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย 2) กระตุ้นกิจกรรมด้านการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมจากตลาดทุนทางเทคโนโลยี และ 3) เพิ่มจำนวนวิสาหกิจฐานนวัตกรรมที่พร้อมเข้าสู่แหล่งเงินทุนจากภาคเอกชนเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างทางธุรกิจ โดยมุ่งสนับสนุนให้ประเทศไทยมีการสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอด “ธุรกิจนวัตกรรม” ที่สร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ส่งผลต่อการผลักดันอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) ของประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” ต่อไป”
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. และประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า “โครงการ TED Matching Fund ดำเนินการขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มจำนวนผู้ประกอบธุรกิจรุ่นใหม่ในประเทศตลอดจนเป็นตัวเร่งสำคัญที่จะเพิ่มปริมาณการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และร่วมมือกับภาคเอกชนในการร่วมลงทุนช่วยเสริมความแข็งแกร่งกลไกของทุนนี้ พร้อมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยฐานนวัตกรรม ในปีงบประมาณ 2567 นี้ TED Fund จะร่วมสนับสนุนทุนอุดหนุนสมทบกำหนดเงื่อนไขการส่งคืนเมื่อโครงการประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ (Recoverable Grant) ซึ่งการสนับสนุนจากฝั่งภาครัฐนั้นสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อโครงการ โดยงบประมาณการร่วมลงทุนจากภาครัฐจะมาจาก 2 หน่วยงาน คือ TED Fund (5 ล้านบาท) และ NIA (5 ล้านบาท) ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ที่จะขอรับการสนับสนุนทุนจะต้องได้รับการร่วมลงทุนและการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้ร่วมลงทุนภาคเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับ “TED Fund” เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ50 ของมูลค่าโครงการ ซึ่งผู้ขอรับทุนจะมีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 5 ปี และเมื่อดำเนินโครงการประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ตามตัวชี้วัดของโครงการที่วางไว้ ผู้รับทุนต้องส่งคืนเงินตามมูลค่าที่ได้รับการสนับสนุนให้TED Fund พร้อมดอกเบี้ย (ไม่เกินร้อยละ 5) เพื่อนำไปสนับสนุนผู้ประกอบการรายอื่นต่อไป”
ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “จาก 6 ความท้าทายในการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทยได้แก่ 1) สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่ซับซ้อนและไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ 2) กลุ่มผู้มีความสามารถยังไม่เพียงพอโดยเฉพาะสาขาเทคโนโลยีเกิดใหม่ 3) กรอบความคิดทางธุรกิจนวัตกรรมที่สนใจทำธุรกิจนวัตกรรมแต่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น 4) โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเกิดธุรกิจนวัตกรรมเข้าถึงยากและไม่เพียงพอ 5) การสนับสนุนจากรัฐบาลไม่สอดคล้องต่อเนื่องกัน และ 6) การเข้าถึงเงินทุนโดยเฉพาะเงินทุนระยะเริ่มต้นและระยะเติบโตสำหรับสตาร์ทอัพไทยมีจำกัด จึงทำให้เกิดความร่วมมือในการเปิดกลไกการสนับสนุนเงินทุนอุดหนุนรูปแบบใหม่“Corporate co-funding” ในวันนี้ เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพมักมีความเสี่ยงสูง และบ่อยครั้งประสบปัญหาด้านการเงินสำหรับการต่อยอดผลงานและการขยายธุรกิจ กลุ่มนักลงทุนส่วนใหญ่สนใจแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพขนาดใหญ่ที่พร้อมสร้างกำไรอย่างรวดเร็ว ซึ่งกลไกการสนับสนุนนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนแล้วยังช่วยเร่งจำนวนผลงานวิจัยที่ออกสู่เชิงพาณิชย์ให้เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่ออันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) ของประเทศไทยอีกด้วย โดยทุนดังกล่าวจะสนับสนุนผู้ประกอบร่วมกันระหว่างแหล่งเงินทุนภาครัฐและเอกชนรวมโครงการละกว่า 20 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขส่งเงินอุดหนุนของภาครัฐคืนเมื่อประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ สำหรับในปีงบประมาณ2567 นี้ NIA ได้รับเงินจัดสรรจาก สกสว. ในการดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการร่วมกับ TED Fund จำนวนหน่วยงานละ 50 ล้าน ทำให้มีวงเงินสนับสนุนจากแหล่งเงินทุนภาครัฐ 100 ล้านบาท”
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) กล่าวว่า “การพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) อยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมี NIA และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นผู้รับผิดชอบในการสนับสนุนสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีให้สามารถพึ่งพาตัวเองและเติบโตกลายเป็นธุรกิจฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งแต่ละหน่วยจะมีกลไกการขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน และหนึ่งในกลไกที่ สกสว. ได้จัดสรรงบประมาณผ่าน NIA คือกลไก Corporate co-funding โดยมีเป้าหมายให้เกิดกลไกใหม่ในการส่งเสริมและสร้างโอกาสการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งด้านเทคโนโลยีและการเงินของสตาร์ทอัพไปสู่ธุรกิจฐานนวัตกรรม เนื่องจากปัจจุบันสตาร์ทอัพส่วนใหญ่อยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากแต่มีรายได้จำกัด ทำให้ไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้หลุดพ้นจากหุบเขามรณะ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเร่งผลักดัน และสร้างปัจจัยที่เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระบบการเงินนวัตกรรมที่เอื้อต่อการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากระยะเริ่มต้นให้เข้าสู่ระยะการเติบโตและต่อยอดการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สนใจขอรับการสนับสนุนทุนในโครงการ TED Matching Fund สามารถติดตามประกาศข่าวสารการเปิดรับสมัครได้ที่ www.tedfund.mhesi.go.th หรือไลน์ OA: @tedfund หรือโทรศัพท์ 02 333 3700 ต่อ 4072 – 4075