ถั่วฝักยาว เป็นพืชอายุสั้น ปลูกได้ตลอดปี ปลูกเพียงเดือนกว่า ก็สามารถเก็บฝักได้ทุกวัน อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตไม่สูง ดูแลไม่ยาก จึงเหมาะกับเกษตรกรมือใหม่ที่เริ่มปลูกเพื่อขาย หรือผู้ที่สนใจลองปลูกไว้กินเองภายในบ้าน แต่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี กำไรงาม บทความนี้จึงได้รวบรวมวิธีปลูกถั่วฝักยาว รวมทั้งต้นทุนการผลิตคร่าว ๆ เอาไว้ด้วย
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต
สิ่งสำคัญของการปลูกพืชคือต้องรู้ถึงความต้องการของพืชก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อที่จะได้จัดการแปลงปลูกให้เหมาะสมต่อความต้องการของพืช ดังนี้
–ชอบอากาศค่อนข้างร้อน ฝนไม่ชุก ถ้าอากาศร้อนเกินไปหรือฝนตกชุก จะทำให้ดอกและฝักร่วง
–มีความต้องการแสงแดดตลอดวัน
–ในฤดูแล้ง จะให้ผลผลิตสูงกว่าในฤดูฝน แต่ถ้ามีการดูแลที่ดีในฤดูฝน คุณภาพของฝักที่ได้จะดีกว่าในช่วงฤดูร้อน
–เจริญได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะในการปลูกที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำได้ดี สภาพความเป็นกรดด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 5.5-6.8
–ในการปลูกใช้น้ำประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ฤดูกาล
สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนการปลูก
เมล็ดพันธุ์
การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ เป็นหนึ่งในวิธีสำคัญในการปลูกถั่วฝักยาว ซึ่งสายพันธุ์ถั่วฝักยาวที่เหมาะกับความต้องการ โดยจะแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ พันธุ์ถั่วเนื้อ ถั่วจะมีฝักอวบ ไม่ยาวมาก เนื้อเยอะ บางพันธุ์อาจไม่ต้องทำค้าง พันธุ์ที่นิยมปลูก เช่น ถั่วฝักยาว ราชินี ตราดอกแดง, ถั่วฝักยาว ยอดเพชรเกษม ตราตะวันต้นกล้า, ถั่วฝักยาว จอมพล ตราตะวันกล้า, ถั่วฝักยาว สุดสาคร ตราเจียไต๋, ถั่วฝักยาว นาคา ตราแวนด้า ซีดส์, ถั่วฝักยาว ลำน้ำชี ตราศรแดง, ถั่วฝักยาว สายทิพย์ ตราภูเขาทอง, ถั่วฝักยาว แอร์กรีน 99 ตราหยดฝน, ถั่วฝักยาว แม่น้ำปิง ตราแม่น้ำ, เมล็ด ถั่วฝักยาว ดกพิจิตร,ถั่วฝักยาว รังสิต ตราดอกแตง หรือ ถั่วฝักยาว สามแฝด ตรางอบทอง เป็นต้น และ พันธุ์ถั่วเส้น ถั่วจะมีฝักเรียวยาว ตรงสวย เนื้อไม่เยอะมาก จำเป็นต้องทำค้าง เนื่องจากฝักมีความยาวมากกว่าพันธุ์เนื้อ พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ ถั่วฝักยาว เขียวดกโกลด์ ตราศรแดง, ถั่วฝักยาว ศรสวรรค์ ตราภูเขา, ถั่วฝักยาว มังกรหยก เบอร์ 9 ตราตะวันต้นกล้า เป็นต้น
ดิน
การเตรียมดิน ไถพรวน ลึกประมาณ 25 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 5 – 7 วัน เพื่อจัดการกับศัตรูพืชต่าง ๆ ในดิน กำจัดวัชพืชออกจากแปลง แล้วไถคราด อาจใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้น
การยกร่อง ให้ร่องกว้างประมาณ 1 เมตร ขนานกับพื้นที่ และเตรียมร่องระหว่างแปลงปลูก 50 – 80 เซนติเมตร ไว้เดินเข้าออก
การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมลึกประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 80 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตร 5-10-5 หรือ 15-15-15 หลุมละครึ่งช้อนแกง คลุกให้เข้ากันกับดินก้นหลุม
การปลูก
หยอดเมล็ดหลุมละ 3-4 เมล็ด กลบด้วยแกลบหรือปุ๋ยคอกหรือดินผสม ให้หนาประมาณ 5 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางแห้งบาง ๆ เพื่อรักษาความชื้น รดน้ำให้ชุ่มพอเหมาะ
การจัดการหลังการปลูก
การถอนแยก
หลังจากหยอดเมล็ดแล้ว 7 – 15 วัน ถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก เหลือต้นแข็งแรงไว้ 2 ต้นต่อหลุม
รูปภาพ : แสดงการถอนแยกต้นอ่อนถั่วฝักยาว
การให้น้ํา
หลังหยอดเมล็ดควรให้น้ำทุกวัน เช้น – เย็น จนต้นถั่วฝักยาวสามารถตั้งตัวได้ แล้วจึงค่อยปรับการให้น้ำาลง อาจมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพอากาศ และสภาพดิน แต่ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอ และไม่ควรปล่อยให้น้ำขัง ต้นถั่วฝักยาวอาจตายได้
การให้ปุ๋ย
ควรใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) และโพแทสเซียม(K) อัตราส่วน 1:2:1 เนื่องจากต้องการธาตุฟอสฟอรัสสูง เพื่อใช้ในการสร้างดอก แต่ก็ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินเดิมเป็นหลัก
– ในดินร่วน หรือร่วนปนทราย ใช้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 5-10-5 อัตรา 50 – 100 กิโลกรัมต่อไร่
– ในดินเหนียว ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 – 100 กิโลกรัมต่อไร่
– ในดินทราย ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 50 – 100 กิโลกรัมต่อไร่
แบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ครั้งละ 25 -50 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งแรกรองก้นหลุมก่อนปลูก ครั้งที่สองเมื่อเริ่มออกดอก (ถั่วมีอายุประมาณ 30 วัน) ใส่ 2 ข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ อาจมีการใส่ปุ๋ยเพิ่มเมื่อเก็บผลผลิต เพื่อบำรุงต้นให้สามารถเก็บผลผลิตได้นานขึ้น
การทําค้าง
ถั่วฝักยาวเมื่อมีอายุประมาณ 15 – 20 วัน จะมีใบจริง 4 – 5 ใบ และเริ่มทอดยอด หรือเลื้อยหาที่เกาะ ควรหาไม้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ครึ่งนิ้ว ยาว 2 – 2.5 เมตร ปักใกล้หลุมเพื่อให้ถั่วฝักยาวพันหรือเลื้อยขึ้นไปตามไม้ ในระยะแรกต้องช่วยจับยอดให้พันไม้ค้าง โดยพันทวนเข็มนาฬิกา การปักไม้ค้ำมีหลายแบบ ที่นิยมคือการทำค้างแบบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว สามารถดูเพิ่มเติมได้ ที่นี่
การพรวนดินและกำจัดวัชพืช
ในช่วงประมาณ 7 – 10 วันแรกหลังปลูก ควรถอนหญ้า เพื่อป้องกันการแย่งอาหารจากต้นถั่วฝักยาว และควรถอนอีกครั้งพร้อมกับการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้แย่งปุ๋ยจากต้นถั่วฝักยาว หลังจากนั้นไม่ค่อยมีความจำเป็นแล้ว เนื่องจากต้นถั่วฝักยาวจะเจริญคลุมพื้นที่ปลูก
การตัดแต่งกิ่ง
ควรมีการตัดแต่งกิ่งช่วงด้านล่างบ้าง เพื่อไม่ให้ต้นโทรม และทำให้ฝักเต่ง ไม่ลีบ โดยเฉพาะในฤดูฝน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคอยตัดแต่งกิ่งเพื่อไม่ให้ฝักนอนอยู่บนดิน จะทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย และเมล็ดที่แก่จะงอก
การเก็บเกี่ยว
ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือ เมื่อถั่วฝักยาวมีอายุประมาณ 40 วันหลังปลูก หรือหลังดอกบาน 4 – 8 วัน โดยทั่วไปจะเก็บได้ประมาณ 22 – 25 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และการดูแล โดยเลือกเก็บฝักที่สียังไม่จาง และฝักยังไม่พอง เรียบ สม่ำเสมอ ควรทยอยเก็บทุก ๆ 2- 4 วัน ไม่อย่างนั้นฝักจะแก่คาต้น
วิธีการเก็บถั่วฝักยาว
ปลิดที่ขั้ว ระวังไม่ให้ดอกใหม่หลุด ไม่อย่างนั้นจะมีผลต่อการเกิดฝักใหม่ และควรทยอยเก็บ อย่าปล่อยให้ฝักแก่ตกค้าง หลังเก็บแล้ว ไม่ควรทิ้งไว้กลางแดด หรือวางกับดินโดยไม่มีอะไรรอง ควรแช่ในน้ำสะอาด 1 ชั่วโมง เพื่อกำจัดสิ่งปนเปื้อน เพื่อให้ถั่วฝักยาวสดใหม่ สะอาด น่าซื้อและได้ราคาดี
เทคนิคทำให้ฝักดก
เด็ดยอด
ในช่วงวันที่ 25 ช่วงที่ถั่วฝักยาวเริ่มไต่ยอดขึ้นตามค้าง ให้เด็ดยอดถั่วฝักยาวออก 2 คู่ หรือประมาณ 2 นิ้ว หลังจากนั้น 3 – 4 วัน จะมียอดใหม่แตกออกประมาณ 4 – 5 ยอด ตรงข้อที่ได้เด็ดออกไป ดูแลให้ปุ๋ยให้น้ำอย่างสม่ำเสมอต่อไปอีกประมาณ 10-15 วัน ยอดที่แตกใหม่จะเริ่มผลิดอก และติดฝักที่ดกกว่าการที่ไม่ได้ทำการเด็ดยอด นอกจากนั้นยังทำให้พุ่มถั่วไม่สูงจนเกินไป ทำให้ง่ายต่อการดูแลและการเก็บฝัก
ต้นทุนการผลิตถั่วฝักยาวใน 1 ไร่
เป็นต้นทุนการผลิตโดยประมาณ ทั้งนี้ขึ้นกับพื้นที่ที่เพาะปลูกด้วย
ค่าเมล็ดพันธุ์ |
600 |
ค่าเตรียมดิน |
1200 |
ค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยวการผลิต |
2000 |
ค่าปุ๋ย |
2000 |
ค่าสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช |
1500 |
ค่าอุปกรณ์ทำค้าง |
1700 |
รวม |
9000 |
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
วิธีการเด็ดยอด , โรคและแมลง ของถั่วฝักยาว
แอดไลน์มาสิ ! คุณจะไม่พลาดข่าวสารสำคัญๆ หรือ สอบถาม แบบสั้นๆเข้าใจง่ายไว้ในบทความนี้ วิธีปลูกถั่วฝักยาวเพิ่มเติม
เกษตรสมบูรณ์ บริการให้คำปรึกษาด้านการเกษตร และ จำหน่าย ปุ๋ย ยา และ เมล็ดพันธุ์ผัก เช่น ศรแดง เจียไต๋ และตะวันต้นกล้า ราคาปลีกและส่ง พร้อมจัดส่งทั่วประเทศ
ID Line : @uox0813g
Facebook : www.facebook.com/kasetsomboonstore
Facebook : fb.me/kasetsomboonstore
Website : https://kasetsomboon.com/