นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่าตามที่ รัฐบาลให้กรอบแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG .. 2564-2569 เป็นวาระแห่งชาติและนำแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2566 “BCG โมเดลเป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างน้อย 5 เป้าหมาย ได้แก่การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

จากการที่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวช้า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีรายได้น้อยและประเทศไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลางมาอย่างยาวนาน รัฐบาลจึงมีนโยบายในการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model ซึ่งจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากทำมากแต่ได้น้อยไปสู่ทำน้อยแต่ได้มาก

นายวีระพงศ์ เผยอีกว่า สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุน SME ในด้านต่าง ๆ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดย BCG ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B (Bio Economy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า C (Circular Economy) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดและทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G (Green Economy) ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ภาครัฐ จึงจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการมีความเข้าใจแนวคิด BCG และปรับใช้กับธุรกิจให้ได้ และควรมีหน่วยรับรอง(Certification Body) สร้างเป็นมาตรฐานของประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการแข่งขัน

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ จึงคาดว่า จะได้เผยแพร่กรณีศึกษาเพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจ BCG สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ประกอบการสามารถนำ BCG ไปปรับใช้ในธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาปรับปรุงเครื่องมือวัดและเกณฑ์ BCG ให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการ MSME เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ในปี 2566 สสว. จะศึกษาและรวบรวมเครื่องมือวัด BCG โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน BCG และผลักดันการใช้เกณฑ์ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการและยกระดับนักพัฒนา BCG ในพื้นที่ทั้ง 5 ภูมิภาค ในการสร้างการรับรู้ BCG ประกอบด้วย การให้ข้อมูลการปรับใช้BCG และเกณฑ์มาตรฐาน BCG และในอนาคตการดำเนินการดังกล่าวสามารถสร้างโอกาสทางการค้าและก้าวข้ามTrade Barrier ในตลาดโลก

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here