การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยสถาบันวิจัยยาง จัดกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมด้านยางพารา ประจำปี2566 รอบคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงาน ชิงชนะเลิศ หวังยกระดับยางพาราเป็นนวัตกรรม ต่อยอดเชิงพาณิชย์ พร้อมหนุนการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยกิจกรรมฯ ครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ห้องประชุมกันตัง กยท. สำนักงานใหญ่
นายณกรณ์ กล่าวว่า กยท. เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการบริหาร การค้นคว้า งานวิจัย รวมถึงการพัฒนากิจการยางในทุกๆ สาขาอย่างครบวงจร จึงเปิดโอกาสให้กับบุคลากรนอก กยท. ทุกระดับ ตั้งแต่บุคคลทั่วไป เกษตรกรชาวสวนยาง นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ และคณาจารย์ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมด้านยาง ประจำปี 2566 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านแนวความคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา พร้อมนำแนวคิดที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นงานวิจัย หรือนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ต่อไป อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าวัตถุดิบยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ สามารถสร้างสรรค์และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อภารกิจของ กยท. และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต
การประกวดนวัตกรรมด้านยางพารา ประจำปี 2566 ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 มีผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานจำนวนมาก และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคัดเลือกเหลือ 19 ทีม เข้ามานำเสนอผลงานในวันนี้ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านต้นน้ำ 2. ด้านกลางน้ำและปลายน้ำ แบ่งรางวัลตามประเภทการประกวด คือ รางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น รางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา รางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับอุดมศึกษาและบัณฑิตศึกษา และรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับอาจารย์หรือนักวิจัย
อนึ่ง สำหรับผลการประกวดนวัตกรรมด้านยางพารา ประจำปี 2566 ประกอบด้วย
ระดับภูมิปัญญา (ด้านกลางน้ำและปลายน้ำ)
– รางวัลชนะเลิศ: นวัตกรรมหมวกนิรภัยจากยางพารา โดยนายมนัส หมวดเมือง จากสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1: นวัตกรรมถุงเพาะชำจากกระดาษขี้เลื่อยไม้ยางพารา โดยนางสาวชลธิชา เดชทองคำ
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2: นวัตกรรมผนังกั้นฉนวนความร้อนและฉนวนกันเสียงจากเศษไม้ยางพารา โดยนายธวัชชัย อริยะสุทธิ
– รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่
1. นวัตกรรมกระถางซีเมนต์ผสมขี้เลื่อยไม้ยางพารา ซึ่งมีน้ำหนักเบาและควบคุมระยะเวลาย่อยสลายได้ โดยนายธวัชชัย อริยะสุทธิ
2. นวัตกรรมกระถางย่อยสลายได้จากเศษไม้ยางพารา โดยนายธวัชชัย อริยะสุทธิ
3. นวัตกรรมวัสดุตกแต่งภายในอาคารจากเศษยางฟองน้ำ โดย ว่าที่ร้อยตรีทศพล มาตรานางสาวนุสนา แหละหมันและนางสาวศิริวรรณ แก่นแก้ว
ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา (ด้านต้นน้ำ)
– รางวัลชนะเลิศ: นวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยบำรุงหน้ายางพารา โดยนายนรวิชญ์ ทองวุ่น นายธนกฤต ประชุม และนายนพดล บำเพ็ญ จากวิทยาลัยการอาชีพเวียงสระ สุราษฎร์ธานี
ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา (ด้านกลางน้ำและปลายน้ำ)
– รางวัลชนะเลิศ: นวัตกรรมชุดตรวจลายนิ้วมือแฝงอย่างง่ายในระดับ Small scale ด้วย Small Particle Reagent ร่วมกับวัสดุเรืองแสงคาร์บอนดอทจากใบยางพารา โดยนายชนาธิป อมรธรรมสถิต นายกมลวิช กาญจนทวีลาภ นายเพชรเก้า กาญจนะวรรธนะ นายยศวัฒน์ สโรจอัครนันท์ และนายพิทยนันท์ เทียนเจริญ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1: นวัตกรรมเซนเซอร์วัดค่าความโค้งงอจากยางฟองน้ำผสมรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ โดยนางสาวต้นข้าว ต่ายใหญ่เที่ยง และนางสาวนภัสวรรณ ภะวะ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยปทุมธานี
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2: นวัตกรรมการพัฒนาการดูดซับเสียงของแผ่นวัสดุลามิเนตด้วยแคลเซียมซิลิเกตจากวัสดุเหลือใช้ โดยนายฐิติพันธ์ วะเศษสร้อย และนางสาวธัญญาภรณ์ ภูทะราช จากโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล
– รางวัลชมเชย: มีทั้งสิ้น 5 รางวัล ได้แก่
1. นวัตกรรมแบริเออร์กันถนนจากยางพาราวัสดุธรรมชาติ โดยนางสาวนิติพร ฟูวังหม้อ และนายกรกฤต ลิ่มจารุถาวรจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี
2. นวัตกรรมวัสดุคอมโพสิตโฟมยางจากยางพาราสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ โดยนายภัทรพล มักขุนทด และนางสาวเบญจพร ทองน่วม จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
3. นวัตกรรมการพัฒนาวัสดุจากแกลบเพื่อเก็บรักษาพลังงาน โดยนายพงศกร ศรีวิชา และนายศรัญย์ อินทรีย์ จากโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล
4. นวัตกรรมเม็ดวัสดุดูดซับโลหะจากวัสดุธรรมชาติที่มีโฟมยางพาราเป็นตัวประสาน โดยนางสาวสุวนันท์ ทิพย์อารักษ์วงศ์ นางสาวกิ่งฉัตร บูรณพาสน์ นายภูริช พิชญานุรัตน์ และนายธัชชัย ลำเจียก จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
5. นวัตกรรมวัสดุคอมโพสิตดูดซับเสียงและต้านทานการลามไฟจากฟางข้าวร่วมกับเส้นใยมะพร้าว โดยมีน้ำยางพาราเป็นตัวประสานเพื่อประยุกต์ในห้องซ้อมดนตรี โดยนายภคพล เตชะรุจิรานนท์ และนายจิรภัทร บุญอนันธนสาร จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
ระดับอุดมศึกษาและบัณฑิตศึกษา (ด้านกลางน้ำและปลายน้ำ)
– รางวัลชนะเลิศ: นวัตกรรมแผ่นเจลยางธรรมชาติลดการเกิดแผลกดทับ โดยนายคณิตสรณ์ ศรีชัย นางสาวธวัลรัตน์ไชยสิทธิ์ และนางสาวอาทิตยา ช่วยบำรุง
ระดับนักวิจัยและอาจารย์ (ด้านกลางน้ำและปลายน้ำ)
– รางวัลชนะเลิศ: นวัตกรรมการใช้ใบยางพาราปรับปรุงคุณภาพเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารหยาบในโคนม โดย ดร.สุธีรวัฒน์ พันธุ์มาลัย และนายอภิชาติ ครุฑสุวรรณ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1: นวัตกรรมพัฒนาภาชนะสำหรับปลูกกล้วยไม้ทดแทนกาบมะพร้าวจากขี้แป้งยางพาราวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำยางข้น โดย ผศ.ดร.ณิชาภา มินาบูลย์ ผศ.ดร.ประชุม คำพุฒ ผศ.สุธน รุ่งเรืองดร.ธีรินทร์ คงพันธุ์ และ ดร.จุฬารัตน์ เอี่ยมสมาย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2: นวัตกรรมหุ่นฝึกผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่จากฟองน้ำยางธรรมชาติ โดย รศ.ดร.นิธินาถ แซ่ตั้ง ดร.ณัฐพนธ์ อุทัยพันธุ์ ผศ.ทพ.ภาณุ สุภัทราวิวัฒน์ รศ.ดร.ทพญ.ศรีสุรางค์ สุทธปรียาศรี และผศ.ทพญ.มะลิ นิยมบัณฑิต