22 หน่วยงาน ภายใต้ภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์แห่งประเทศไทย (Thailand Synthetic Biology Consortium) ร่วมจัดงานประชุม SYNBIO Consortium ประจำปี 2566 หัวข้อ Advancing the ‘Game Changer’ โดยมุ่งหวังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology Technology) ของหลายภาคส่วน เช่น ภาคเอกชนทั้งที่เป็น start up และขนาดใหญ่ ภาครัฐที่มีบทบาทกำหนดนโยบาย การส่งเสริมกำลังคน และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับ เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ กิจกรรมพบปะพูดแลกเปลี่ยนระหว่าง startup ผู้สนับสนุน นักลงทุนด้าน SynBio ตลอดจนบูทแสดงผลิตภัณฑ์ด้าน SynBio

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หนึ่งในภาคีเครือข่าย เผยว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด 8 อันดับแรกของโลก มีความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบการเกษตรและมีจุลินทรีย์ท้องถิ่นมากกว่า 200,000 ชนิด และมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาบุคลากร และการส่งเสริมระบบนิเวศการวิจัย จึงเป็นโอกาสที่ดีจะต่อยอดงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพสู่การพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูงด้านชีววิทยาสังเคราะห์ และผลักดันการใช้เทคโนโลยี SynBio สร้างธุรกิจนวัตกรรม สร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ บีซีจี และสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่(New S-Curve) ให้ประเทศสร้างสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่าSynthetic Biology เป็นแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังมาแรงในกระแสโลก ที่ช่วยลดการพึ่งพาวิถีการทำเกษตรกรรม ปศุสัตว์ การผลิตแบบดั้งเดิมที่ใช้พื้นที่และทรัพยากรมหาศาล ที่สุดท้ายก่อให้เกิดขยะ มลพิษ และผลกระทบอื่น ต่อสิ่งแวดล้อมจนเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดภาวะโลกรวน ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชน ในนามภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์แห่งประเทศไทย (Thailand Synthetic Biology Consortium) ได้ร่วมมือกัน โดยปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ทำให้เกิดกิจกรรมจากการดำเนินงานเชิงรุกภายในเครือข่าย อาทิ การสร้าง SynBio Academy เพื่อสร้างกำลังคนทั้งรูปแบบ degree และ non-degree ป้อนเข้าสู่สถาบันวิจัยและภาคอุตสาหกรรม การลงทุนหน่วยรับจ้างพัฒนาและผลิตระดับอุตสาหกรรม (Contract Development and Manufacturing Organization: CDMO) การจัดทำแผนพัฒนา Biofoundry โครงสร้างพื้นฐานด้าน SynBio และการทำ Business Matching ภายในเครือข่ายเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยี SynBio ในกลุ่ม Biorefinery และการแพทย์

ผลประชุมในครั้งนี้จะช่วยขยายเครือข่ายทั้งในกลุ่มมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาคเอกชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เกิดกิจกรรมที่มีส่วนร่วมระหว่างองค์กรในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และสร้างความความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ของประเทศ เพื่อยกระดับงานวิจัยและดึงดูดการลงทุนด้าน SynBio ในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่เวทีระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here