(22 กุมภาพันธ์ 2567) อาคารไบโอเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย .ปทุมธานีศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (TBRC) ให้สื่อมวลชนเยี่ยมชมคลังเก็บรักษาจุลินทรีย์และชีววัสดุ ซึ่งมีมากเกือบ 1 แสนสายพันธุ์ใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาคอาเซียน พร้อมโชว์จุดแข็งของ TBRC ในด้านการรับฝากและให้บริการจุลินทรีย์และชีววัสดุรวมถึงงานบริการเทคนิคที่เกี่ยวข้องได้แก่ การคัดแยกจุลินทรีย์ การจำแนกชนิดจุลินทรีย์ การวิเคราะห์ประชากรจุลินทรีย์ การเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ รวมถึงการอบรบด้านการเก็บรักษาและจัดการคลังจุลินทรีย์ให้กับผู้สนใจทำให้ประเทศเกิดความเข้มแข็งในการนำทรัพยากรจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านวิจัยและด้านอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านอาหาร สุขภาพ เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการนำเข้าจุลินทรีย์จากต่างประเทศสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมทั้งมีส่วนอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย โดยปัจจุบัน TBRC เก็บรักษาจุลินทรีย์ไว้มากกว่า 4,300 สปีชีส์ ทั้งหมดนี้ช่วยสนับสนุนนโยบายด้านเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาลในการช่วยสร้างความเข้มแข็งด้วยฐานชีวภาพจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร.เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ รองผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ไบโอเทคจัดตั้งศูนย์จุลินทรีย์ตั้งแต่ปี 2539 และได้พัฒนาเรื่อยมาจนเกิดเป็นศูนย์ชีววัสดุประเทศไทยในปัจจุบัน เพื่อเป็นศูนย์ชีววัสดุชั้นนำในอาเซียนที่เชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการชีววัสดุที่ทันสมัยและเป็นไปตามกฎระเบียบนานาชาติเข้ากับการวิจัยและนวัตกรรม ด้วยภารกิจในการเป็นศูนย์กลางการรวบรวมชีววัสดุและข้อมูลโดยใช้ระบบบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ชีววัสดุอย่างสูงสุด พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ชีววัสดุอย่างยั่งยืนเป็นไปตามกฎระเบียบนานาชาติ รวมถึงสร้างความร่วมมือระดับประเทศและนานาชาติด้านการวิจัยเกี่ยวกับชีววัสดุ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านการเก็บรักษาและบริหารจัดการชีววัสดุ ทำให้ TBRC มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางจัดการชีววัสดุของประเทศที่มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ดร.ชาญวิทย์ สุริยฉัตรกุล หัวหน้าทีมวิจัยความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย(TBRC) ไบโอเทค กล่าวว่า TBRC เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บรักษา ให้บริการและบริหารจัดการทรัพยากรจุลินทรีย์ ชีววัสดุ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้เกิดการใช้ประโยชน์ โดยจุลินทรีย์และชีววัสดุที่เก็บรักษาประกอบด้วยแบคทีเรีย รา ยีสต์ ไวรัส และโปรโตซัว ซึ่งมีมากถึงเกือบ 1 แสนสายพันธุ์ ที่พร้อมนำมาวิจัยต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ถือเป็นคลังชีววัสดุชั้นนำระดับภูมิภาคอาเซียน โดย TBRC มีบริการหลัก ได้แก่ รับฝากและให้บริการจุลินทรีย์และชีววัสดุ คัดแยกจุลินทรีย์ จำแนกชนิดจุลินทรีย์ วิเคราะห์ประชากรจุลินทรีย์ การเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ รวมถึงให้การอบรบด้านการเก็บรักษาและจัดการคลังจุลินทรีย์ ซึ่ง TBRC มีระบบการเก็บรักษาจุลินทรีย์ตามมาตรฐานระดับสากล ได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO 9001:2015 โดยมีการเก็บรักษาในสภาพแช่เยือกแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -80 องศาเซลเซียส และในถังไนโตรเจนเหลว และการเก็บรักษาแบบแห้งในหลอดแก้วสุญญากาศ ที่สามารถเก็บรักษาจุลินทรีย์ให้มีชีวิตรอดได้นานกว่า 20 ปี โดยผู้เชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์กลุ่มต่าง จะกำหนดขั้นตอนวิธีการจัดเก็บ วิธีการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้จุลินทรีย์ที่จัดเก็บและให้บริการมีความถูกต้อง รอดชีวิต และปราศจากการปนเปื้อน ซึ่งบริการเหล่านี้จะช่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้บริการไปยังกลุ่มนักวิจัย หน่วยงานวิจัย และภาคอุตสาหกรรมต่าง ด้านการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์และชีววัสดุ เพื่อตอบโจทย์งานวิจัยและความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป

ด้าน ดร.สุภาวดี อิงศรีสว่าง นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยระบบจุลินทรีย์และชีวสารสนเทศ กล่าวเสริมว่า  TBRC มีการดำเนินงานโครงการวิจัยร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อค้นหาจุลินทรีย์ชนิดใหม่ ของโลกและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยTBRC ร่วมงานกับพันธมิตรในการทำวิจัยร่วมกัน โดยเน้น 1) การตรวจหาติดตามดีเอ็นเอชุมชนจุลินทรีย์(Microbiome Analysis) เพื่อวิเคราะห์ความหลากหลายของชุมชนจุลินทรีย์และบทบาทของจุลินทรีย์ ในการประเมินสถานภาพสิ่งแวดล้อมหรือผลิตภัณฑ์จากภาคอุตสาหกรรม 2) ชีวสารสนเทศและฐานข้อมูลจุลินทรีย์ เพื่อการวิเคราะห์บ่งชี้ชนิดจุลินทรีย์และความสัมพันธ์เชิงหน้าที่ของจุลินทรีย์ระดับยีนได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ รวมทั้ง 3) การค้นหาและปลดล็อกศักยภาพของจุลินทรีย์จากคลัง TBRC เพื่อให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในคลัง TBRC มีความพร้อมและตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมได้มากที่สุด

นอกจากนี้ TBRC ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) บนโลกนี้ด้วยโดย TBRC ดูแลทรัพยากรจุลินทรีย์ในระดับสกุลมากกว่า 1,500 สกุล (genus) และระดับชนิดมากกว่า 4,300 ชนิด(species) รวมถึง TBRC ยังนับเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในด้านสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ การขึ้นทะเบียนจุลินทรีย์เพื่อควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้กับภาคอุตสาหกรรม และยังเป็นแหล่ง Bioresources หรือแหล่งรวมข้อมูลพันธุกรรมที่สำคัญของประเทศ ซึ่งมีภาคเอกชนและผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการและประโยชน์เพื่อต่อยอดในอุตสาหกรรมจำนวนมาก เป็นหนึ่งในฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสุขภาพและยารักษาโรคอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้ประโยชน์คลังจุลินทรีย์ TBRC ที่ผ่านมา มีทั้งผู้ใช้บริการ คือนักวิจัยของไบโอเทค สวทช. และหน่วยงานภายนอก เช่น องค์กรรัฐและภาคเอกชน ตัวอย่างการศึกษาวิจัยที่ทำโดยนักวิจัยไบโอเทคเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง เช่น จุลินทรีย์ที่ผลิตเอนไซม์ที่ใช้ในอาหารสัตว์ อาทิ เชื้อราสายพันธุ์แอสเปอร์จิลลัส(Aspergillus spp.) หรือจุลินทรีย์สำหรับควบคุมศัตรูพืช อาทิ เชื้อราสายพันธุ์ไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) ขณะที่หน่วยงานภายนอกมีการใช้บริการงานบริการเทคนิคต่าง เป็นจำนวนมาก เช่น คัดแยกจุลินทรีย์ จำแนกชนิดจุลินทรีย์ อย่างไรก็ตาม สวทช. มีบริการที่จะช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในกลุ่มที่ต้องการให้มากขึ้นในระดับกึ่งอุตสาหกรรมในโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (BIOTEC Bioprocessing Facility) หรือ BBF เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง

หนึ่งในนักวิจัยไบโอเทคที่สะท้อนมุมมองถึงการนำจุลินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ในงานวิจัยคือ ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ไบโอเทค ซึ่งมีการนำจุลินทรีย์จาก TBRC มาใช้ในด้านต่าง เช่น เอนไซม์ ENZEase ซึ่งใช้ในการลอกแป้ง (desizing) และกำจัดแว็กซ์ (scouring) ในขั้นตอนเดียวซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานและสารเคมีในกระบวนการผลิตสิ่งทอ การใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในการปรับปรุงยีสต์ผลิตเอทานอลให้สามารถผลิตสารคาโรทีนอยด์ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ การใช้จุลินทรีย์และเอนไซม์ในการเร่งปฏิกิริยาการผลิตน้ำตาลฟังก์ชั่น ในกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ เช่น ไซลิทอล ซึ่งใช้เป็นสารให้ความหวานในอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และโอลิโกแซคคาไรด์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารพรีไบโอติก จากชีวมวลทางการเกษตร และการใช้จุลินทรีย์ในกลุ่มรา เช่น บิววาเรีย และเมตาไรเซียม เป็นสารชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช รวมถึงการผลิตสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีโครงสร้างเฉพาะจากจุลินทรีย์ ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดสิทธิ์ให้ภาคเอกชนแล้ว หรืออยู่ระหว่างขยายขนาดการผลิตร่วมกับภาคเอกชนชั้นนำ เพื่อผลักดันไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป

หน่วยงานหรือผู้สนใจใช้ความรู้ความสามารถและเทคโนโลยีของ TBRC ในการตอบโจทย์ด้านจุลินทรีย์ รวมถึงหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับความร่วมมือวิจัย สามารถติดต่อได้ที่ TBRC อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 ตึก B ชั้น 8 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี โทร. 0 2117 8000-1 อีเมล tbrcservice@biotec.or.th แฟนเพจwww.facebook.com/tbrcnetwork/ และเว็บไซต์ www.tbrcnetwork.org/

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here