สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคใบร่วงในยางพารา ในเขตพื้นที่ปลูกยางพาราภาคใต้ตอนล่างของประเทศ พบว่า ลักษณะอาการที่ปรากฏบนใบยางพารา ซึ่งจะมีลักษณะเดียวกันกับการรายงานของประเทศสมาชิกสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ หรือ IRRDB (อินโดนีเซีย มาเลเซีย และศรีลังกา) คือ เป็นลักษณะอาการใบร่วงที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตของน้ำยาง ทำให้ผลผลิตลดลงกว่าร้อยละ 30  50 โดยส่วนใหญ่จะพบในพันธุ์ยาง RRIM 600 พันธุ์ RRIT 251 และพันธุ์ PB 311

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมติดตาม ตรวจสอบและประเมินสถานการณ์ พบว่า ขณะนี้มีการระบาดของโรคดังกล่าว ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดตรัง รวม 365,883 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 17 ของเนื้อที่กรีดได้ (ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562แบ่งเป็น จังหวัดนราธิวาส 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ยี่งอ รือเสาะ เจาะไอร้อง จะแนะ สุคิริน แว้ง ระแงะ สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก ศรีสาคร และตากใบ รวมพื้นที่ 365,483 ไร่ ส่วนจังหวัดตรัง พบการระบาดเฉพาะพื้นที่อำเภอเมืองตรัง รวม 400 ไร่

หากวิเคราะห์ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดในยางพาราของจังหวัดนราธิวาสและตรัง พบว่า จำนวนพื้นที่ระบาด 365,883 ไร่ของทั้ง 2 จังหวัด จะคิดเป็นปริมาณผลผลิตทั้งปี รวม 93,305 ตัน ซึ่งหากผลผลิตลดลง ร้อยละ 30 – 50 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2562 จะส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ในภาพรวม คิดเป็นมูลค่า 253 – 423 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยเดือนละ 126 – 211  ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคได้ จะทำให้ผลผลิต   ของ 2 จังหวัด ได้รับผลกระทบจากผลผลิตลดลงทั้งปี 2563 ประมาณ 27,991  46,652 ตัน และอาจส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ในภาพรวม คิดเป็นมูลค่า 1,255 – 2,093ล้านบาทต่อปี หรือ เฉลี่ยเดือนละ 104 – 174 ล้านบาท

เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า การเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดเป็นสิ่งสำคัญในขณะนี้ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำคำแนะนำการป้องกันการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการในพื้นที่ และให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างออกสำรวจ ติดตามพื้นที่การระบาด พร้อมให้คำแนะนำ ป้องกัน ให้ความรู้ พร้อมรายงานข้อมูลให้รับทราบต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การยางแห่งประเทศและกรมวิชาการ ได้มีการนำร่องทดสอบการใช้โดรนพ่นสารกำจัดเชื้อราเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรคใบร่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก เชื้อราPestalotiopsis sp. แพร่ระบาดโดยลมและฝน จึงค่อนข้างยากต่อการป้องกันและควบคุม ดังนั้น ขอให้เกษตรกรระมัดระวังหรืองดการเคลื่อนย้ายวัสดุปลูกและใบยางพาราโดยเฉพาะจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ไปสู่พื้นที่อื่น และสำหรับต้นยางพาราที่พบว่าเป็นโรคใบร่วงระยะรุนแรง ให้เกษตรกรใช้สารเคมีโดยวิธีฉีดพ่นลงดินด้วยสาร thiophanate methyl และพ่นทรงพุ่มยางด้วยสาร benomyl, hexaconazole, thiophanate methyl, triadimefon และ difenoconazole เพื่อกำจัดเชื้อ รวมทั้งบริหารจัดการพื้นที่ป้องกันการระบาดเพิ่ม โดยกันพื้นที่เป็นแนวป้องกัน (Buffer Zone) ทั้งนี้ สศก. จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อเตือนภัยอย่างเต็มที่ ซึ่งหากเกษตรกรพบข้อสงสัยว่าจะมีการระบาดของโรคในพื้นที่ หรือต้องการสอบถามข้อมูลรายละเอียดการระบาดและคำแนะนำสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยในจังหวัดที่ท่านทำสวนยางอยู่

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here