9 มกราคม 2568 – การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2567 ชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า การออกหุ้นกู้ภาคเอกชนในปี 2567 ได้ปรับตัวลดลง 10% จากปีที่แล้ว มีมูลค่าการออกเท่ากับ 913,141 ล้านบาท ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทยมีอัตราการขยายตัว 3.6% ในปี 2567 จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญทั้งนี้ ผลสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2568 จากผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 2 ครั้ง รวม 0.50% เหลือ 1.75% โดย กนง. อาจเริ่มมีการปรับลดในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ปี 2567 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai Bond Market Association: ThaiBMA) ได้ดำเนินการมาครบ 30 ปีในวันที่ 1 พฤศจิกายน2567 ซึ่งตลอดช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ThaiBMA ได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย โดยในปี 2567 นี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยได้พัฒนาเครื่องมือต่างๆ ที่สำคัญเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ร่วมตลาดและผู้ลงทุน ได้แก่ การจัดทำหน้าจอคำนวณราคาตราสารหนี้แบบง่ายสำหรับผู้ลงทุนทั่วไป การจัดทำแหล่งรวมข้อมูลความรู้ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญสำหรับการลงทุนตราสารหนี้ การจัดทำตัวอย่างสัญญามาตรฐานของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนให้มีประสิทธิภาพ การจัดทำค่ากลางอัตราส่วนการเงินรายอุตสาหกรรม (Industry financial ratio) ของผู้ออกตราสารหนี้ และแอปพลิเคชัน MeBond: Function plus+ ที่เพิ่มฟังก์ชันต่างๆ ตอบสนองตามความต้องการของผู้ลงทุน

มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2567 เท่ากับ 17.1 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% จากปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 913,141 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อนหน้า โดยหุ้นกู้กลุ่ม High yield มีอัตราการออกลดลงมากกว่ากลุ่ม Investment grade สะท้อนถึงความกังวลและการระมัดระวังการลงทุนของผู้ลงทุนในปีที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน ตามลำดับ

สำหรับการออก ESG bond ในปี 2567 เท่ากับ 179,192 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) เป็นรุ่นแรก มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท และเป็นรุ่นแรกที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศในเอเชีย นอกจากนั้น ในปีนี้มีผู้ออก ESG bond รายใหม่จากรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนรวม 6 ราย ปัจจุบันจึงมีผู้ออก ESG bond รวม 35 ราย มูลค่าคงค้าง ESG bond เท่ากับ 815,402 ล้านบาท คิดเป็น 4.7% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในปี 2567 มีลักษณะ Bullish Flattening ที่เส้น Bond yield ปรับตัวแบนราบมากขึ้นจากการที่ Bond yield รุ่นอายุ 1 ปีขึ้นไปปรับตัวลงราว 32-40 bps. มากกว่า Bond yield รุ่นอายุต่ำกว่า 1 ปี โดย สิ้นปี 2567 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 2.02% 2.10% และ 2.30% ตามลำดับ

เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) ในปี 2567 ของหุ้นกู้อันดับเครดิต AAA ถึง A  ปรับตัวลงในช่วง 29-33 bps. ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ขณะที่หุ้นกู้อันดับเครดิต BBB+ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15 bps. จากการระมัดระวังการลงทุนของผู้ลงทุน โดย สิ้นปี 2567 อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นอายุ 5 ปี ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA  AA  A และ BBB+ เท่ากับ 2.81% 2.99%  3.27% และ 4.67% ตามลำดับ

กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ของนักลงทุนต่างชาติในปี 2567 เป็นการขายสะสมสุทธิ ตราสารหนี้ไทยจำนวน 67,395 ล้านบาท เป็นผลรวมของการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย 125,959 ล้านบาทในสองไตรมาสแรกกับไตรมาสที่สี่ และการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทย 58,561 ล้านบาทในไตรมาสที่สาม ทำให้การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ สิ้นปี 2567 เท่ากับ 8.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.7 ปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 8.6 ปีเมื่อสิ้นปี 2566

ทั้งนี้ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้กล่าวถึงผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2568 ที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 2 ครั้ง รวม 0.50% เหลือ 1.75% จากปัจจุบันที่ 2.25% โดยจะเริ่มมีการปรับลดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทยในปี 2568 ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปีและ 10 ปี จะปรับตัวลงเฉลี่ย 5-15 bps. จากปลายปี 2567 จากปัจจัยเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ  ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯ และกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) เป็นสำคัญ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here