(23 พฤศจิกายน 2566) ห้องประชุมรวงข้าว ชั้น 2 อาคารกรมการข้าว กรุงเทพฯกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาด้านข้าว โดยมี ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว กับ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมลงนาม พร้อมด้วยดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค และ นางสาวกุลศิริ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาข้าวเป็นสักขีพยาน เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว การผลิต การบริหารจัดการการผลิต การแปรรูปผลผลิตและของเหลือจากการผลิตข้าว ตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่าง อันเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตข้าวของไทยให้มีความเข็มแข็ง สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาในทุกภาคส่วนของไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อไป

ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวให้ความสำคัญกับการวิจัยและการพัฒนาข้าวมาโดยตลอด โดยเฉพาะการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าวปลูก ให้มีผลผลิตต่อพื้นที่และคุณภาพสูงขึ้น การพัฒนาพันธุ์ การอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุ์ การผลิตเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบ และรับรอง การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว รวมทั้งการส่งเสริมวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าว โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือในการวิจัย พัฒนาพันธุ์ข้าว การผลิต การบริหารจัดการการผลิต และการแปรรูปผลผลิตและของเหลือจากการเกษตร ตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม (Value chain) เพื่อยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูงมูลค่าสูง สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และเกิดความมั่นคงทางอาหารตามนโยบายการขับเคลื่อน BCG

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีเป้าหมายการดำเนินงานที่มุ่งเน้นในการสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ของประเทศ พร้อมเชื่อมโยงกับพันธมิตรทุกภาคส่วนในการขยายผลการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สอดคล้องตามนโยบายกระทรวง อว. ในเรื่องวิจัยนวัตกรรมดี ตอบโจทย์ตรงความต้องการและเน้นประเด็นสำคัญของประเทศโดย สวทช. มีความร่วมมือกับกรมการข้าวในการวิจัยและพัฒนาด้านข้าวมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค ได้ร่วมกับกรมการข้าว ในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณสมบัติต้านทานสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ ทนร้อน ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนเค็ม ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และให้มีคุณภาพและผลผลิตสูง โดยได้รับการรับรองพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าว และได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเกษตรจำนวนหลายสายพันธุ์ ซึ่งพร้อมเผยแพร่สู่เกษตรกร/นำไปต่อยอดต่อไป รวมทั้ง ความร่วมมือในการพัฒนานักปรับปรุงพันธุ์ข้าวรุ่นใหม่

และอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือ ความร่วมมือส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการวิจัย การลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาด้านข้าว ซึ่ง สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ได้ร่วมกับกรมการข้าวในหลายเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาเครื่องตรวจเมล็ดข้าวโดยใช้เทคโนโลยีโฟโทนิกส์เพื่อจำแนกรายละเอียดของข้าว การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนวิเคราะห์การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล การพัฒนาแอปพลิเคชันใบข้าวเอ็นเค เพื่อช่วยประเมินการขาดธาตุอาหารจากใบของต้นข้าว และพัฒนาต่อยอดเป็นไลท์บอทวินิจฉัยโรคข้าว เป็นต้น

เหล่านี้ ล้วนเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจากความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานที่ผ่านมา และโอกาสที่ได้ร่วมมือกันในระยะต่อไป ทั้ง สวทช. และกรมการข้าว จะได้ร่วมกันใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการจัดทำสาราณุกรมพันธุ์ข้าวไทยเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ การพัฒนาต่อยอดระบบบริหารจัดการการผลิตข้าวระบบติดตามสุขภาพข้าวและคาดการณ์ผลผลิตข้าว และระบบการแนะนำพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่และฤดูกาล เพื่อให้มีความเสี่ยงจากการผลิตข้าวน้อยที่สุด และร่วมกันพัฒนาพันธุ์ข้าวรับโลกรวนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยี Marker Assisted Selection (MAS) ต่อไป ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อจะยกระดับข้าวไทยให้สามารถเติบโตเข้มแข็ง และช่วยยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เกิดความยั่งยืนทางด้านรายได้ และความมั่นคงทางอาหารร่วมกันไปด้วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here