กยท. เตือนชาวสวนยางเฝ้าระวังโรคใบร่วง หรือ ไฟทอฟธอรา (Phytophthora) ระบาดหนัก ช่วงหน้าฝนแนะนำเกษตรกรเฝ้าสังเกต หากพบต้นยางในสวนติดโรค ควรรีบทำการรักษา เพื่อป้องกันการระบาดจากต้นสู่ต้น

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคใบร่วงหรือไฟทอฟธอรา (Phytophthora) มักจะระบาดหนักในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะกับสวนยางพารา เนื่องจากโรคนี้มักแพร่ระบาดโดยน้ำฝน ลม โดยความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและจำนวน วันฝนตก รวมถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อ ซึ่งอยู่ระหว่าง 25-28 องศา มักระบาดได้ดี ในสภาพอากาศเย็น ฝนตกชุก เชื้อไฟทอฟธอรานั้นจะอาศัยน้ำและความชื้นในการขยายพันธุ์ หากมีความชื้นสูงต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4 วัน เช่นหน้าฝน มีน้ำท่วมขัง ต้นยางรับแสงแดดน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน หรือพันธุ์ยาง ที่ปลูกอ่อนแอไม่ต้านทานโรค เป็นต้น

ลักษณะอาการติดโรค สามารถสังเกตอาการได้เด่นชัดที่ก้านใบ จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ตามความยาวของก้านใบ แผลบริเวณที่เป็นทางเข้าของเชื้อมักมีหยดน้ำยางเล็ก ๆ เกาะติดอยู่ การเข้าทำลาย ที่ก้านใบนี้เองเป็นผลทำให้เกิดใบร่วงทั้งที่ใบยังมีสีเขียวสดอยู่ เมื่อนำมาสะบัดเบา ๆ ใบย่อยจะหลุดออกจากก้านใบโดยง่ายต่างจากการร่วงโดยธรรมชาติ บนแผ่นใบย่อยเชื้ออาจเข้าทำลายที่ปลายใบหรือขอบใบ เกิดแผลสีน้ำตาล มีลักษณะช้ำน้ำขยายติดต่อกันเป็นแผลใหญ่ทำให้ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแดงก่อนที่จะร่วง

นอกจากนี้ยังพบว่า เชื้อนี้สามารถเข้าทำลายฝักยางได้ทุกระยะทำให้ฝักเน่า ถ้าความชื้นในอากาศสูงจะพบเชื้อราสีขาวเจริญปกคลุมฝัก ฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำค้างอยู่บนต้นไม่แตกและร่วงหล่นตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งเชื้อโรคในปีถัดมา และได้กล่าวเสริมถึงวิธีการป้องกันเชื้อไฟทอฟธอราว่า เกษตรกรไม่ควรปลูกพืชที่เป็นที่อาศัยของเชื้อ เช่น ส้ม ทุเรียน พริกไทย ปาล์ม โกโก้ เป็นพืชแซมยาง เนื่องจากอาจนำเชื้อมาระบาดสู่ต้นยางได้ และควรปลูกยางพันธุ์ต้านทานโรค เช่น RRIT 251 และ RRIT 408 หมั่นกำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยางให้อากาศถ่ายเท สะดวกเพื่อลดความชื้นในสวนยาง

เมื่อพบโรคให้ใช้สารเคมี metalaxyl หรือ fosetyl-aluminium อัตราส่วน 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นใบยางอ่อนเมื่อพบการระบาดทุก ๆ 7 วัน หากต้นยางใหญ่ที่เกิดใบร่วงอย่างรุนแรงจนใบร่วงหมด ควรหยุดกรีดยาง และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์ เกษตรกรชาวสวนยางสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่การยางแห่งประเทศไทย ในพื้นที่ได้ในวันและเวลาทำการ

ติดตามข่าวสารข้อมูลยางและพลาสติกเพิ่มเติมที่ www.rubberplasmedia.com
www.rubbmag.com

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here