ปลัดกระทรวงอุตฯ “พสุ โลหารชุน” ลงพื้นที่สงขลา ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงการนิคมฯสงขลา (สะเดา) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ระยะแรก 629 ไร่ คืบกว่า 11% กนอ.มั่นใจแล้วเสร็จ ตามแผนปี’63 ปลื้มนักลงทุนทั้งไทย-จีน-มาเลย์ 5 ราย แสดงความสนใจพื้นที่ใช้เป็นฐานการผลิต รวม 40-50 ไร่ โชว์ศักยภาพนิคมฯ ตอบโจทย์การลงทุนผ่านเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยวันนี้ (7 ก.ย.2562) ว่า  กนอ.ได้รายงานความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ที่ ต.สำนักขาม  อ.สะเดา จ.สงขลา ระยะที่ 1 บนพื้นที่ 629 ไร่ ต่อนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ในโอกาสลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดสงขลา ซึ่งปัจจุบันนิคมฯดังกล่าว อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่ก้าวหน้าไปแล้วกว่า 11 % และเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการนักลงทุนเข้าใช้พื้นที่เพื่อประกอบกิจการของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563
ทั้งนี้ นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มอบหมายให้ กนอ.จัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม ในนิคมฯสงขลา เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ที่ให้ความสนใจนิคมฯสงขลา เพราะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ (strategic area) ที่สำคัญ เนื่องจากมีระบบโลจิสติกส์ที่ครบวงจร ทั้งด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นด่านทางบกที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดที่อยู่ใกล้ท่าเรือปีนัง และท่าเรือกลางของมาเลเซียและในอนาคตจะมีการพัฒนามอเตอร์เวย์ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างนิคมฯยางพารา (Rubber City) ที่จะต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ ซึ่งนิคมฯดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ที่ กนอ.อยู่ระหว่างพัฒนาเป็นพื้นที่สำหรับรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน เป็นต้น และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่สอดรับกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการ Thailand Plus ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งหากโครงสร้างพื้นฐานสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลกำหนด เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักลงทุนพิจารณาตัดสินใจเข้ามาลงทุนในนิคมฯ สงขลา ได้อย่างแน่นอ
นอกจากนั้น การพัฒนาโครงการนิคมฯสงขลา ในระยะแรก กนอ. จำนวนทั้งสิ้น 629 ไร่  กนอ. แบ่งออกเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมทั่วไป เขตพาณิชยกรรม และโรงงานสำเร็จรูป ประมาณ 347 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภคส่วนกลาง พื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวก และพื้นที่ สีเขียว ซึ่งได้ออกแบบภายใต้แนวคิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) ที่ทุกภาคส่วนทั้งสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จำนวน 283 ไร่ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่นิคมฯ แห่งนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มีนักลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย และ จีน ประมาณ 5 ราย ได้ติดต่อสอบถามข้อมูลและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการเข้ามาประกอบกิจการ ซึ่งจากการเจรจากับผู้ประกอบการดังกล่าว พบว่ามีความต้องการใช้พื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 40-50 ไร่ เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตและรองรับการขยายธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างครบวงจร ผลิตอาหารฮาลาล เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา สถานีบริการปั๊มน้ำมัน ผลิตเมทัลชีท ขายปลีก-ส่ง โลจิสติกส์ และธุรกิจห้องเย็น เป็นต้น
ขณะเดียวกัน พื้นที่การลงทุนที่ นิคมฯ สงขลา ยังถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่างที่มีศักยภาพ มีความพร้อมในเรื่องของวัตถุดิบ แรงงาน และระบบขนส่ง ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ตลอดจนยังสามารถรองรับการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจไปยังจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นหน่วยสนับสนุนระบบคลัสเตอร์ในการเชื่อมโยงทางวัตถุดิบ และแรงงานได้เป็นอย่างดี
“นิคมฯ สงขลา แห่งนี้ นับเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่สองของ กนอ.ที่ได้ดำเนินการพัฒนาจัดตั้งขึ้น ภายใต้นโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ที่รัฐบาลต้องการเตรียมพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมใน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากมีการใช้พื้นที่เต็มจำนวนแล้วจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ  3,400 อัตรา และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในจังหวัดสงขลา ประมาณ 13,800 ล้านบาทในอนาคต” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here