เรื่องโดย : วิเชียร แก้วสมบัติ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศไทย เนื่องจากเป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูกยางพาราประมาณ 22 ล้านไร่ (ครอบคลุมกว่า 60 จังหวัด) และสามารถผลิตยางธรรมชาติได้ 4.4 ล้านตัน โดยผลผลิตดังกล่าวได้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางที่มีอยู่จำนวน 1.6 ล้านครัวเรือน (หรือ 6 ล้านคน) ประมาณ 3 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 200,000 คน และในแต่ละปี “ยางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ยาง” สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดจะเห็นว่าอุตสาหกรรมยางพารามีปัญหาหลายประการ ได้แก่ ยางพาราเป็นสินค้าที่ประเทศไทยผลิตได้เป็นอันดับที่ 2 ของโลก แต่ส่งออกได้เป็นอันดับที่ 1 ของโลก และด้วยเหตุที่ยางพาราที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางโดยโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเพียงแค่ 14% ส่วนที่เหลืออีก 86% ถูกส่งออกในรูปวัตถุดิบ ทำให้ยางพาราเป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลักเช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ และด้วยเหตุที่โครงสร้างตลาดยางพาราเป็นแบบตลาดผู้ซื้อน้อยราย ในขณะที่มีผู้ขายจำนวนมาก ส่งผลทำให้ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้ขาย ในขณะเดียวกันราคายางพาราที่ซื้อขายกันในตลาดโลกยังถูกกำหนดจากราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยที่ 90% เป็นการเก็งกำไร ส่งผลทำให้ราคายางพารามีความผันผวนค่อนข้างมาก นอกจากนั้นราคายางพารายังได้รับผลกระทบจากราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ทดแทนยางธรรมชาติ โดยเมื่อราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของยางสังเคราะห์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเช่นในปัจจุบัน จึงมีผลทำให้ราคายางสังเคราะห์ปรับตัวลดลงตามไปด้วย ทำให้ผู้ผลิตหันไปใช้ยางสังเคราะห์แทนยางธรรมชาติเพื่อลดต้นทุน และในท้ายที่สุดก็มีผลทำให้ราคายางธรรมชาติประสบกับภาวะตกต่ำ จนทำให้เกษตรกรเดือดร้อน และออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล

นอกจากปัญหาเรื่องราคาแล้ว การผลิตยางพาราของไทยยังมีต้นทุนสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ส่งผลทำให้จำเป็นต้องตั้งราคาขายสินค้าสูงกว่าคู่แข่งขัน ทำให้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีพื้นที่สวนยางส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตป่าสงวน ทำให้ประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศญี่ปุ่นกำหนดมาตรการกีดกันการค้าในรูปแบบของมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (FSC) โดยประเทศเหล่านั้นได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะซื้อผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราจากสวนยางที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC เท่านั้น ในปัจจุบันส่วนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้จำกัดอยู่แค่ไม้ยางพารา แต่ถ้าหากเมื่อใดที่มาตรการกีดกันดังกล่าวลุกลามไปถึงยางแปรรูปขั้นต้น (หรือยางวัตถุดิบ) ก็จะส่งทำให้อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับกรณีของอุตสาหกรรมประมงที่ได้รับผลกระทบจากการที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ใบเหลืองเพื่อเป็นการเตือนอย่างเป็นทางการต่อกรณีที่ประเทศไทยไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) นอกจากนั้นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานกรีดยาง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติก็ถือว่าเป็นปัญหาท้าทายที่ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน

หากปัญหาและความท้าทายที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้รับการแก้ไขก็จะทำให้อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยต้องย่ำอยู่กับที่ เมื่อใดที่มีปัญหาราคายางตกต่ำเกษตรกรก็จะออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งในท้ายที่สุดรัฐบาลก็จะต้องออกมาตรการต่างๆ ออกมาเยียวยา และด้วยเหตุที่มาตรการดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างได้ ทำให้งบประมาณที่รัฐบาลใช้ในการเยียวยาปัญหายางพาราไม่เกิดประโยชน์ เหมือนเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาที่จะต้องมีการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)” เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างโดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้และการส่งออกด้วยการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ และมุ่งเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งก็จะมีผลทำให้ปริมาณการส่งออกยางวัตถุดิบลดลง โดยที่มีเป้าหมายเพื่อที่จะลดผลกระทบจากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำ สร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับเกษตรกรฯ และวางรากฐานให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

เพื่อให้การจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริหารทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิตเป็นเลขานุการ ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามในคำสั่งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา โดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริหารทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิตเป็นประธาน และมีผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยเป็นคณะทำงานและเลขานุการ

เมื่อคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราได้รับคำสั่งแต่งตั้ง การยางแห่งประเทศไทยจึงได้ทำการจัดจ้างให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมาเป็นที่ปรึกษา และได้ร่วมกันจัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีขึ้น โดยในการดำเนินการที่ผ่านมาเริ่มต้นจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนรวม 8 ครั้ง แบ่งเป็นส่วนภูมิภาคจำนวน 7 ครั้ง และส่วนกลางจำนวน 1 ครั้ง จากนั้นจึงนำความคิดเห็นที่ได้มาจัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี แล้วนำกลับไปจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีในส่วนภูมิภาคอีกจำนวน 5 ครั้ง แล้วจึงนำเอาข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะที่ได้จากทั้ง 5 เวทีมาปรับปรุง (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ ให้สมบูรณ์มากขึ้นก่อนที่จะนำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ไปทำการประชาพิจารณ์เมื่อวันอังคารที่ 12 กันยายน 2560 เวลา 9.00-12.00 น. ณ การยางแห่งประเทศไทย (สำนักงานใหญ่)

หลังจากการประชาพิจารณ์ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีแล้ว ขั้นตอนต่อไป คณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราจะได้นำเอาข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะที่ได้ไปปรับปรุง “(ร่าง) ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี” ให้เป็น “ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี” ที่สมบูรณ์แล้วจึงนำไปเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา และกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ก่อนที่จะประกาศใช้ต่อไป โดยในทางปฏิบัตินั้นจำเป็นที่จะต้องมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (โดยที่มีผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ) ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีให้เป็นไปตามเป้าหมาย

อนึ่งยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ที่จะนำไปเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “เป็นผู้นำของโลกในด้านการผลิตและการส่งออกยางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ยาง/ไม้ยางพารา และทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ที่ยั่งยืน” โดยการที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามพันธกิจจำนวน 8 ข้อ ดังนี้

  • พัฒนาเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง และมีรายได้ที่มั่นคง
  • ส่งเสริมการผลิตยาง ผลิตภัณฑ์ยาง/ไม้ยางพาราให้มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล
  • ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
  • ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจแปรรูปยาง/ไม้ยางพารา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการแปรรูปยาง/ไม้ยางพารา
  • พัฒนาระบบตลาด และช่องทางการจัดจำหน่ายยาง ผลิตภัณฑ์ยาง/ไม้ยางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • ส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ
  • ปรับปรุงข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งระบบให้มีความเป็นเอกภาพ มีความสมบูรณ์ถูกต้อง มีความชัดเจน และมีความทันสมัย
  • ปรับปรุงกฎระเบียบ/กฎหมาย และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา

ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ 19 กลยุทธ์ โดยทั้ง 5 ยุทธศาสตร์นั้น ประกอบด้วย

  • การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรฯ และสถาบันเกษตรกรฯ
  • การเพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน
  • การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
  • การพัฒนาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย
  • การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน

ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า คณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราได้กำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี เอาไว้ว่า “จะต้องทำให้” …

  • ปริมาณผลผลิตยางเฉลี่ยของทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 360 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
  • เกษตรกรฯ และสถาบันเกษตรกรฯ มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตัวเองได้
  • ปริมาณการซื้อขายยางในตลาดยาง กยท. เพิ่มขึ้นเป็น 2,000,000 ตันต่อปี
  • สัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30%
  • การใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐคิดเป็นสัดส่วน 10% ของการใช้ยางภายในประเทศ
  • เงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมยางพารามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี
  • มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง/ไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นเป็น 800,000 ล้านบาทต่อปี

 

 

 

 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here